มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะวิทยาศาสตร์ เสวนาพิเศษ Science Café แกะสูตร Start up model : จากห้องแล็บสู่ผลิตภัณฑ์ชุดตรวจโควิด-19 มาตรฐานสากล

มหาวิทยาลัยมหิดล และ James Cook University เครือรัฐออสเตรเลีย ร่วมหารือด้านงานวิจัย
February 18, 2021
มหาวิทยาลัยมหิดล ต้อนรับคณะผู้บริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในโอกาสเข้าอวยพรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 2564
February 19, 2021

มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะวิทยาศาสตร์ เสวนาพิเศษ Science Café แกะสูตร Start up model : จากห้องแล็บสู่ผลิตภัณฑ์ชุดตรวจโควิด-19 มาตรฐานสากล

1

18 กุมภาพันธ์ 2564 มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะวิทยาศาสตร์ จัดเสวนาพิเศษ Science Café แกะสูตร Start up model : จากห้องแล็บสู่ผลิตภัณฑ์ชุดตรวจโควิด-19 มาตรฐานสากล โดยถ่ายทอดเรื่องราวของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุดตรวจโควิด-19 แลกเปลี่ยนประสบการณ์การนำงานวิจัยสู่ธุรกิจจาก รองศาสตราจารย์ ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ หัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ และอาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ หัวหน้าศูนย์พัฒนาชุดทดสอบโรคและความปลอดภัยทางอาหาร (ADDC) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมชาย เชื้อวัชรินทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ (CEMB) คุณกวิน น้าวัฒนไพบูลย์ นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซโนสติกส์ จำกัด และคุณอกนิษฐ์ วงศ์บุญมาก นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท เซโนสติกส์ จำกัด และ อาจารย์ ดร.พรรณวจี พยงค์ศรี อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ดำเนินการเสวนา ณ ห้องประชุม K102 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท

การเสวนาครั้งนี้ ได้กล่าวถึงมุมมองและแรงบันดาลใจที่เป็นจุดเริ่มต้นในการทำชุดตรวจโรค ก่อนจะมุ่งพัฒนาเป็นชุดตรวจโควิด-19 โดยนำเอา DNA Chip เทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ มาผสมผสานกับเทคนิค RT-LAMP ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความรวดเร็วอ่านผลจากการเปลี่ยนสีได้ใน 1 ชั่วโมง มีความแม่นยำสูง กระจายตัวได้ง่าย และค่าใช้จ่ายถูกกว่า เหมาะกับการนำไปใช้คัดกรองผู้ป่วยในชุมชนอันเป็นกลไกสำคัญในการควบคุมการระบาดของโรค และยังกล่าวถึงการใช้งานชุดตรวจ ซึ่งได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพความไว (Sensitivity) ถึง 95% และความจำเพาะ (Specificity) 99.97% เทียบกับการตรวจด้วยวิธีการ real time RT-PCR โดยใช้ตัวอย่างของผู้ป่วย ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี และการใช้จริงในพื้นที่ชุมชนในพื้นที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี กว่า 3,000 ตัวอย่าง

โดยได้รับความร่วมมือของหน่วยงานภายในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อาทิ กลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ ภาควิชาจุลชีววิทยา ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ และหน่วยงานภายนอก เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมถึงมูลนิธิรามาธิบดี องค์การเภสัชกรรม (GPO) และหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ที่ให้การสนับสนุนทุนให้งานวิจัยจากห้องแล็บกลายเป็นผลิตภัณฑ์ชุดตรวจโควิด-19 FastProof™ GoPlus SARS-CoV-2 RT-LAMP Kit และ FastProof™ Dual SARS-CoV-2 RT-LAMP Kit ซึ่งเป็น 1 ใน 2 รูปแบบของชุดตรวจโควิด-19 ฝีมือคนไทย ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

สำหรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลที่อยากทำสตาร์ทอัพ สามารถปรึกษาการทำธุรกิจกับสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหน่วยงานบ่มเพาะสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ