มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ด้านการจัดการและควบคุมมลพิษสิ่งแวดล้อม กับ กรมควบคุมมลพิษ

ม.มหิดล ประชุมเตรียมความพร้อม 8 หลักสูตร รับการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาตามเกณฑ์ AUN-QA ระดับอาเซียน ปี 2564 (PREP4AUN-QA 2021)
March 4, 2021
โครงการผู้บริหารพบผู้รับทุนมหิดลและทุนพัฒนาอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
March 4, 2021

มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ด้านการจัดการและควบคุมมลพิษสิ่งแวดล้อม กับ กรมควบคุมมลพิษ

DSC_3032

วันที่ 4 มีนาคม 2564 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการจัดการ และควบคุมมลพิษ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุระ พัฒนเกียรติ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ รองศาสตราจารย์ ดร. ภก.พิสิฐ เขมาวุฆฒ์ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมผู้แทนจากทั้งสองฝ่าย และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการศึกษาวิจัยเชิงบูรณาการ การบริการทางวิชาการ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถของบุคลากร ของมหาวิทยาลัยมหิดล และกรมควบคุมมลพิษ ในด้านการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์มลพิษสิ่งแวดล้อม ผลกระทบจากมลพิษสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการจัดการและควบคุมมลพิษสิ่งแวดล้อม ส่วนงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดลสามารถใช้ประโยชน์จากบันทึกข้อตกลงทางวิชาการนี้ เพื่อร่วมกันรับมือกับความท้าทายด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น

ในเบื้องต้น มหาวิทยาลัยมหิดล จะร่วมเป็นเครือข่ายสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ กับกรมควบคุมมลพิษ เพื่อรายงานคุณภาพอากาศพื้นที่ศาลายา จ.นครปฐม ผ่านแอพลิเคชัน Air4Thai และพัฒนาต่อยอดเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กประสิทธิภาพสูงซึ่งใช้ต้นทุนต่ำ ที่คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ได้พัฒนาขึ้น นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี อยู่ระหว่างการศึกษาองค์ประกอบของสารเคมีในฝุ่นละออง PM 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งเบื้องต้น พบว่าฝุ่น PM 2.5 มีผลเป็นพิษต่อเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจที่ระดับความเข้มข้นไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร และขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอขอทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

การลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการนี้ เป็นส่วนหนึ่งในความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” และเป็น “มหาวิทยาลัยระดับโลก” โดยนำสหวิทยาการมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมในทางปฏิบัติ และการกำหนดนโยบายสาธารณะที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย ตามกรอบของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายของรัฐบาล และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อความอยู่ดีมีสุขและสุขภาวะของสังคม