กองบริหารงานวิจัย ม.มหิดล จัดอบรม “โครงการติดอาวุธให้นักวิจัยรุ่นใหม่ ผ่าน Multi Mentoring System” รุ่นที่ 7

คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล รับฟังการนำเสนอผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา ภายใต้กิจกรรม Virtual Mobility for Occupational Health
February 15, 2021
มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ต้อนรับเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในโอกาสติดตามและประเมินผลโครงการสำคัญด้านการอุดมศึกษา ปีงบประมาณ 2564 ครั้งที่ 1
February 16, 2021

กองบริหารงานวิจัย ม.มหิดล จัดอบรม “โครงการติดอาวุธให้นักวิจัยรุ่นใหม่ ผ่าน Multi Mentoring System” รุ่นที่ 7

research-02

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานกล่าวเปิดการอบรม พร้อมบรรยายในหัวข้อ “ความสำคัญของ University Ranking และบทบาทของนักวิจัยรุ่นใหม่” ให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรม “โครงการติดอาวุธให้นักวิจัยรุ่นใหม่ ผ่าน Multi Mentoring System” รุ่นที่ 7 ณ ห้อง Grand Ballroom ศูนย์ประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง กล่าวว่า ภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยมหิดล คือ การเรียนการสอน ซึ่งจะต้องบ่มเพาะให้นักศึกษาที่จบการศึกษาออกไปอย่างมีคุณภาพ ที่สำคัญนักศึกษาจะต้องเป็นคนดีและเก่ง ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัย เราจะต้องทำหน้าที่พัฒนาให้นักศึกษาสามารถดำรงอยู่ได้ในโลกปัจจุบัน ต้องพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม โดยอีกหนึ่งบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยมหิดล คือ การดำเนินงานผลงานวิจัยและนวัตกรรม การคิดค้นการรักษาที่ตอบสนองต่อปัญหาของประเทศ และภารกิจของมหาวิทยาลัยมหิดล จะสามารถบรรลุได้นั้น จะต้องอาศัยอาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรทุกท่าน ช่วยผลักดันให้มหาวิทยาลัยมหิดลไปสู่ TOP 100 World Class University ในปี 2030 ได้

จากนั้น ศาสตราจารย์ นายแพทย์วชิร คชการ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายในหัวข้อ “ความก้าวหน้าของอาจารย์และนักวิจัยในมหาวิทยาลัย” โดยได้ให้ข้อมูลและแนวทาง ในการก้าวสู่ตำแหน่งทางวิชาการ ว่า ความก้าวหน้าของอาจารย์และนักวิจัย เปรียบเสมือนบันไดทางวิชาชีพที่จะนำไปสู่การมีตำแหน่งทางวิชาการ โดยเป็นตำแหน่งที่แสดงถึงความเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีคุณธรรมและจรรยาบรรณในการสอน การวิจัยและวิชาการ โดยสิ่งที่สำคัญอีกประการในการก้าวสู่ตำแหน่งทางวิชาการนั้น คือ เราจะต้องหา “พี่เลี้ยง (Mentor)” หรือเครือข่ายระหว่างนักวิจัยรุ่นใหม่และนักวิจัยพี่เลี้ยง ที่จะคอยเป็นให้คำปรึกษา ข้อมูลต่าง ๆ และช่วยให้เราประสบผลสำเร็จในการดำรงตำแหน่งทางวิชาการต่อไปได้ นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม บรรยายในหัวข้อ Research to Innovation” และการบรรยายในหัวข้อ “จริยธรรมการวิจัยในยุคประเทศไทย 4.0” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์พงศกร ตันติลีปิกร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ และ อาจารย์ ดร. นายแพทย์กิตติพงศ์ ไพบูลย์สุขวงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนานวัตกรรมและบริการวิชาการ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล

ในภาคบ่าย เป็นการเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางการสร้างงานวิจัยแบบบูรณาการให้ตอบโจทย์ประเทศ และการสร้างเครือข่ายวิจัยระดับนานาชาติ” โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.รัศมี ชูทรงเดช มหาวิทยาลัยศิลปากร และ รองศาสตราจารย์ ดร.โธมัส กวาดามูซ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมการเสวนา จากนั้น เป็นการบรรยายเรื่อง “เทคนิคการเขียนข้อเสนอโครงการอย่างไรให้ได้รับทุน: วิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ และนำผลงานไปใช้ประโยชน์” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์กำลัง ชุมพลบัญชร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตกาญจนบุรี และ รองศาสตราจารย์ ดร.โธมัส กวาดามูซ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากร

มหาวิทยาลัยมหิดล มีวิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก มีพันธกิจหลักในการสนับสนุนและส่งเสริมการทำวิจัยที่มีคุณภาพระดับสากลเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยและสังคมโลก ตามแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล 20 ปี ยุทธศาสตร์ที่ 1 Global Research and Innovation มีกลยุทธ์มุ่งเน้นสร้างกลุ่มวิจัย สร้างระบบสนับสนุนการวิจัยที่ครบวงจร และส่งเสริมนวัตกรรม ที่ทำให้เกิดการสร้างผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ในสังคมและเชิงพาณิชย์ จึงจัด “โครงการติดอาวุธให้นักวิจัยรุ่นใหม่ ผ่าน Multi Mentoring Systemรุ่นที่ 7 ขึ้น ระหว่างวันที่ 16 – 18 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อเตรียมความพร้อมและพัฒนาอาจารย์ นักวิจัยให้มีความสามารถดำเนินงานด้านการวิจัย สามารถสร้างสรรค์งานวิจัยคุณภาพสูงเพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดในระดับชาติ และระดับสากล โดยเป็นการให้ความรู้ ความเข้าใจ สร้างทักษะ ในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพระดับสากล และสามารถดำเนิการทำงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชนได้ อีกทั้งให้อาจารย์ นักวิจัยรุ่นใหม่ เข้าใจระบบพี่เลี้ยง (Mentoring System) และสามารถจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อขอรับทุนจากแหล่งทุนต่าง ๆ ได้