ม.มหิดล นำทีม 8 สถาบันการศึกษา เร่งจัดทำมาตรฐานเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบ ดิจิทัล (Digital Transcript) พร้อมดันสู่ Digital Transformation เต็มรูปแบบ

พิธีปิดโครงการฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามพระราชดำริฯ รุ่นที่ 23
March 17, 2021
โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล จัดประชุมวิชาการออนไลน์ เรื่อง “COVID-19 and Its Disruptive Effects on the Nursing Education: Future, Policy and Strategic Plans” (COVIDNEd 2021)
March 17, 2021

ม.มหิดล นำทีม 8 สถาบันการศึกษา เร่งจัดทำมาตรฐานเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบ ดิจิทัล (Digital Transcript) พร้อมดันสู่ Digital Transformation เต็มรูปแบบ

IMG_5732_0

วันที่ 17 มีนาคม 2564 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานการประชุมคณะทำงานกำหนดมาตรฐานการจัดทำเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล (Digital Transcript) ครั้งที่ 2/2564 ณ ห้องประชุมวิภาวดี สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) อาคารบางกอกไทยทาวเวอร์ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร

การประชุมในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และ คณะทำงานกำหนดมาตรฐานการจัดทำเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล (Digital Transcript) โดยมีผู้เเทนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมหารือ ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อหารือเรื่องการจัดทำมาตรฐานและการจัดทำเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล (Digital Transcript) แนวทางการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย แนวทางการขยายผลสู่การใช้งานจริง รวมถึงแนวทางการประชาสัมพันธ์ภาพรวมโครงการในรูปแบบวีดิทัศน์ การจัดทำ VDO Clip ขั้นตอนการลงทะเบียนและการนำใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้ และแนวทางการจัดทำระบบกลางให้บริการตรวจสอบความน่าเชื่อถือ (Validation) ของ Digital Transcript

คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 เห็นชอบในหลักการ การออกเอกสารหลักฐานของทางราชการผ่านระบบดิจิทัล โดยให้มีการนำร่องดำเนินการในภารกิจของหน่วยงานที่มีผลกระทบต่อประชาชน โดยการจัดทำเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล (Digital Transcript) จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ให้สามารถเข้าถึงเอกสารสำคัญทางการศึกษาได้อย่างรวดเร็ว และทั่วถึง ทุกที่ ทุกเวลา อีกทั้งหน่วยงานหรือบุคคลที่ได้รับเอกสาร สามารถตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารนั้นผ่านระบบดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว

โครงการ Digital Transcript นอกจากอำนวยความสะดวกแก่นิสิต นักศึกษา และประชาชน ช่วยป้องกันการปลอมแปลงวุฒิการศึกษา และลดภาระของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเอกสารสำคัญทางการศึกษาแล้ว ยังนับเป็นการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลครั้งสำคัญของประเทศอีกด้วย ทั้งการปรับเปลี่ยนวิธีคิด (mindset) ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม (culture) และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (behaviour) ของสังคมให้ยอมรับและคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสร้าง ตรวจสอบ และใช้งานเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล หรือ Digital Transcript ได้อย่างครบวงจร ซึ่งจะกลายเป็นต้นแบบ หรือ Model สำหรับการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลในประเด็นหรือมิติอื่นๆ ของภาครัฐต่อไป