นักวิจัยสตรีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนพิเศษเพื่อพัฒนางานวิจัยป้องกันโควิด-19

โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมคืนต้นไม้สู่ป่า เนื่องในวันต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ.2563
June 10, 2020
มหาวิทยาลัยมหิดล จัดประชุมโครงการ “พัฒนาการจัดการเรียนการสอนรายวิชา มมศท.100” ประจำปีการศึกษา 2563
June 12, 2020

นักวิจัยสตรีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนพิเศษเพื่อพัฒนางานวิจัยป้องกันโควิด-19

4348CFC4-1C5D-4F7B-A374-1E4EF2BF06CB

วันที่ 11 มิถุนายน 2563  รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอรุณี ธิติธัญญานนท์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนพิเศษจากโครงการลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” สาขางานวิจัยโควิด-19 ในหัวข้องานวิจัย โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการวินิจฉัย วิธีการรักษาโรค วัคซีนของโรค COVID-19 และการติดตามการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางพันธุกรรมและระบาดวิทยา ที่เกิดจากเชื้อไวรัส SARS-CoV2  โดยบริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนทุนวิจัยแก่สตรีนักวิจัยที่มีผลงานสร้างประโยชน์อย่างโดดเด่นในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในหลากหลายด้าน  พร้อมนี้  รองศาสตราจารย์ ดร. พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ที่ปรึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และที่ปรึกษา สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมแสดงความยินดี ห้องไลลา บางกอกคลับ อาคารสาทรซิตี้ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอรุณี ธิติธัญญานนท์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวถึงรายละเอียดของงานวิจัยว่า  นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จึงได้มีการทำงานร่วมกับนักวิจัยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และสภากาชาดไทย เพื่อศึกษาวิจัยควบคุมการระบาดของโรค  โดยสามารถเพาะแยกเชื้อจากผู้ป่วยโควิด-19 และเลี้ยงเชื้อได้ตั้งแต่ระยะแรกของการระบาดในประเทศไทย  โดยได้มีส่วนในโครงการวิจัยโรคดังกล่าวหลากหลายโครงการ ทั้งการพัฒนาวิธีการตรวจเซรุ่มเพื่อทดสอบแอนติบอดี้ลบล้างฤทธิ์  ซึ่งปัจจุบันได้ตรวจหาระดับแอนติบอดี้ลบล้างในเลือดผู้ป่วยที่หายจากโรคแล้วเพื่อนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง ทั้งยังนำเอาความรู้พื้นฐานไปช่วยพัฒนานวัตกรรมชุดตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 พร้อมนำศักยภาพของห้องปฏิบัติการชีวะนิรภัยระดับ 3 มาช่วยพัฒนชุด RT-LAMP ในระยะแรก  พร้อมทั้งให้คำปรึกษาในกระบวนการบ่มเพาะเทคโนโลยีกับบริษัทสตาร์ทอัพเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุดตรวจทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานและผ่านการรับรองโดยหน่วยงานของรัฐ

นอกจากนี้  ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาแพลตฟอร์มการคัดกรองยาต้านเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยใช้เทคนิคอิมมูโนฟลูออเรสเซนส์ ซึ่งพบว่า สารสกัดจากกระชายขาวและสารสำคัญ 2 ชนิด มีศักยภพในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส SARS-CoV2 ได้เกือบ 100%  พัฒนาวัคซีนอาร์เอนเอเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019  ซึ่งมีแผนที่จะผลิตและทดสอบในประเทศไทยทั้งหมด อีกทั้ง  ได้ร่วมศึกษาการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางพันธุกรรมของไวรัสชนิดที่พบในรายงานทั่วโลกและในประเทศที่อาจะมีผลต่อภูมิต้านทานของวัคซีน  รวมถึงดูความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลงทางรหัสพันธุกรรมกับความรุนแรงของโรค  โดยการดำเนินการของโครงการทั้งหมด  เชื่อว่าจะนำไปสู่ทางออกที่มีประสิทธิภาพให้กับประเทศและขยายสู่ระดับโลกในการต่อสู้กับโรคโควิด-19

Recent post