มหาวิทยาลัยมหิดล จัดสัมมนาวิชาการออนไลน์ “มหิดลรวมพลคนทำสื่อ” กู้วิกฤต COVID-19 “เมื่อมหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยน”

โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล​ ร่วมต้อนรับที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข​
July 17, 2020
มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมการประชุมสามัญที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยและสมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยวาระพิเศษ
July 19, 2020

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดสัมมนาวิชาการออนไลน์ “มหิดลรวมพลคนทำสื่อ” กู้วิกฤต COVID-19 “เมื่อมหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยน”

1595062103215_copy_1024x683

วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 มหาวิทยาลัยมหิดล โดย กองบริหารการศึกษา ร่วมกับ เครือข่ายคนทำสื่อ จัดสัมมนาวิชาการออนไลน์ “มหิดลรวมพลคนทำสื่อ” กู้วิกฤต COVID-19 ซึ่งได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการสัมมนา และ รองศาสตราจารย์ ดร.ภก.เนติ สุขสมบูรณ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้

ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษาฯ กล่าวแสดงปาฐกถาในหัวข้อ “มาตรฐานการศึกษาออนไลน์และทิศทางการศึกษาของประเทศ” ว่า สถานการณ์ COVID-19 ยังเป็นวิกฤตอย่างมาก การจัดการศึกษาต้องปรับตัวในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การจัดการเรียนการสอนออนไลน์เป็นสิ่งที่ทุกมหาวิทยาลัยต้องทำ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อจำกัดของการเรียนการสอนออนไลน์คือ การไม่ตอบโจทย์ด้านร่างกายและอารมณ์ ผู้เรียนขาดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและผู้สอน มหาวิทยาลัยจะต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้ หลักสูตรต้องปรับตัวเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้เรียนและตลาดแรงงาน ต้องมีการบูรณาการระหว่างหลากหลายสาขา ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง คิดวิเคราะห์ได้ พัฒนาศักยภาพให้ทันต่อเทคโนโลยี และสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ใช้องค์ความรู้และทักษะแก้ปัญหาให้กับสังคมและประเทศไทย ที่สำคัญต้องสร้างคนที่มีทักษะที่เป็น Global Thai Citizen มาตรฐานการศึกษาออนไลน์ เนื้อหาต้องดี มีคุณภาพและทันสมัย ปรับเปลี่ยนให้ไว ผู้สอนต้องสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนด้วยวิธีต่าง ๆ มีการประเมินการเรียนการสอนออนไลน์ ทั้งนี้ แต่ละสถาบันจะต้องมีการกำหนดมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ มองถึงความพร้อมของอาจารย์และมหาวิทยาลัยที่จะจัดการเรียนการสอน ความทันสมัยของหลักสูตรและตอบโจทย์ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โครงสร้างพื้นฐานที่จะสนับสนุนการเรียนการสอนออนไลน์ การศึกษาของประเทศหลังโควิด (New Normal Education) ต้องให้ความสำคัญปัจจัย 3 ด้าน คือ นักศึกษา อาจารย์และบุคลากรต้องปลอดภัย การจัดการเรียนการสอนต้องมีความเท่าเทียมกันเข้าถึงได้อย่างมีคุณภาพ มีการออกแบบการศึกษาใหม่ที่กำหนดผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน

จากนั้น เป็นเวทีเสวนาในหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ การปรับตัวของมหาวิทยาลัย การพัฒนาเทคนิคและคุณภาพการสอนสำหรับอนาคต สอบกันยังไง ปัญหาที่ใหญ่กว่า โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยมหิดลและผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก

การเสวนาวิชาการออนไลน์ “มหิดลรวมพลคนทำสื่อ” เป็นการขยายเครือข่ายคนทำสื่อทุกสาขาที่ต้องการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้นำในการสร้างมาตรฐานของการคิดค้นและพัฒนาด้านเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาอย่างไม่หยุดนิ่ง ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารการศึกษา โดยในปีนี้ เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้สถาบันการศึกษา อาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ไม่สามารถใช้รูปแบบการเรียนการสอน และบริการการศึกษาในสถานศึกษาแบบปกติ ต้องปรับตัวใช้เครื่องมือการเรียนการสอนแบบออนไลน์ การเสวนาในครั้งนี้จึงเป็นการแนะนำระบบที่ช่วยสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนและการประเมินผลการศึกษาออนไลน์ ระบบเครือข่ายการสื่อสาร และระบบสนับสนุน รวมถึงการประชาสัมพันธ์ แบบ New Normal โดยกำหนดสัมมนาทั้งหมด 4 วัน ในระหว่างเดือนกรกฎาคม – เดือนสิงหาคม 2563 ระบบออนไลน์ ซึ่งครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในวันที่ 25 กรกฎาคม 2563 หัวข้อ “พลิกตำราบริหารระบบเครือข่าย” ผู้สนใจสามารถรับชมสดและรับชมย้อนหลังผ่านทางระบบ Facebook Live ที่ Mahidol University Extension

Recent post