มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามความร่วมมือร่วมกับ The University of Western Australia เครือรัฐออสเตรเลีย
February 14, 2020
พิธีเปิดกีฬาบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีงบประมาณ 2563 มหิดลเกมส์ “รัก ณ มหิดลเกมส์ (LOVE @Mahidol Game 2020)”
February 14, 2020

Meet the President ประชาคมมหิดลพบอธิการบดี ครั้งที่ 1/2563

MeetThePresident_20

14 กุมภาพันธ์ 2563 มหาวิทยาลัยมหิดลจัดกิจกรรม Meet the President ประชาคมมหิดลพบอธิการบดี” ครั้งที่ 1/2563 ณ ห้องประชุม Grand Auditorium ชั้น 4 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยมีผู้ร่วมงานจากทุกกลุ่มสายงานของมหาวิทยาลัยมหิดลเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

งาน Meet the President ประชาคมมหิดลพบอธิการบดี จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรทุกสายงานของมหาวิทยาลัยมหิดลได้มีโอกาสพบปะและสื่อสารรวมทั้งเป็นเวทีให้มีการซักถาม และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นซึ่งกันและกันกับทีมบริหารมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างถูกต้องในทิศทางการบริหารงาน สามารถนำพามหาวิทยาลัยไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

โดยงาน Meet the President ในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 นับตั้งแต่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ เข้ารับตำแหน่งรักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2560 เป็นต้นมา โดยได้กล่าวถึงผลงานเด่นของมหาวิทยาลัยมหิดลในรอบปีที่ผ่านมาดังนี้

มหาวิทยาลัยมหิดลได้อันดับ 1 ของประเทศไทยจากผลงานด้านนวัตกรรมทรัพย์สินทางปัญญาสูงสุดจากการจัดอันดับโลกของ Scimago ประเทศสเปน นอกจากนี้ ยังมีผลงานการยื่นจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร ปี 2561 จำนวน 49 เรื่อง ปี 2562 จำนวน 58 เรื่อง นอกจากนี้ ยังติดอันดับ 1 ของไทยในการจัดอันดับโลกของ Times Higher Education (THE) / US. News / University Ranking by Academic Performance (URAP) และอันดับ 2 ของไทยในการจัดอันดับของ QS World University Rankings (QS)

– ในด้านสิ่งแวดล้อม จากผลสำรวจ UI Green Metric World University Ranking 2019 ที่จัดทำโดย University of Indonesia (UI) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ประกาศว่า มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันการศึกษาสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุดในโลก เป็นอันดับที่ 75 ของโลก และอันดับ 1 ของประเทศไทย 4 ปีซ้อน โดยปี 2016 ได้อันดับที่ 70 ของโลก ปี 2017 ได้อันดับที่ 86 ของโลก ปี 2018 ได้อันดับที่ 89 ของโลก และล่าสุดปี 2019 ได้อันดับที่ 75 ของโลก นอกจากนี้  วิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล  ได้รับรางวัลตราสัญลักษณ์ G – Green (ระดับเงิน) ระดับประเทศ ประจำปี 2562 จาก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จากนโยบายการพัฒนาวิทยาเขตตามแนวทางมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศน์ Eco University จากกิจกรรมรณรงค์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน อาทิ การจัดจ้างทำสื่ออนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และประชาสัมพันธ์ โครงการกระดาษกลับบ้าน โครงการจัดสวนมุมสวย กิจกรรมคัดแยกขยะ กิจกรรมติดตั้งหลอด solar street กิจกรรมสร้างและซ่อมแซมฝายชะลอน้ำ กิจกรรมบำรุงรักษาเครื่องกรองน้ำดื่ม กิจกรรม Green Office ในสำนักงาน ตลอดจนได้มีการเปลี่ยนรถรางรับ-ส่งนักศึกษา บุคลากร ภายใน จากรถที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากน้ำมันมาเป็นรถรางที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และได้ศึกษาและจัดทำโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อใช้ในการชาร์จรถไฟฟ้า และลดการใช้พลังงงานของอาคารอำนวยการ ซึ่งสามารถประหยัดค่าพลังงานไฟฟ้าได้เป็นจำนวนมาก

– ในด้านคุณธรรมความโปร่งใส มหาวิทยาลัยมหิดลได้เข้าร่วมการประเมิน Integrity and Transparency Assessment – ITA ประจำปีงบประมาณ 2562 ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมีสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมการประเมินทั้งสิ้น 83 แห่ง โดย มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับ A ติดอันดับ 4 และขึ้นชื่อว่าเป็น “มหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่ได้อันดับสูงที่สุด

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศผลรางวัล การบริหารสู่ความเป็นเลิศ หรือ Thailand Quality Class (TQC)” ประจำปี 2562 โดย มหาวิทยาลัยมหิดล และ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สามารถผ่านเกณฑ์การประเมินให้เข้ารับรางวัลดังกล่าวในพิธีที่จะจัดอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ไบเทค บางนา

ปิดท้ายด้วยบทสรุปจากการสัมมนาผู้บริหารมหาวิทยาลัย (Retreat) ประจำปี 2563 “Strategies to World Class University : Revisited  1 – 2 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรม อัตตา เลคไซด์ รีสอร์ท สวีท เขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ทีมผู้บริหารมหาวิทยาลัยและผู้บริหารส่วนงาน ได้ร่วมกันตั้งวิสัยทัศน์ที่จะนำพามหาวิทยาลัยมหิดลสู่การเป็นมหาวิทยาลัยอยู่ในอันดับ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลกในปี พ.ศ. 2573 โดยวางแผนกลยุทธ์ไว้ดังนี้ Flagship ที่ 1: โครงการ MU-MRC และกลุ่มนักวิจัยสำเร็จรูป Flagship ที่ 2: โครงการการศึกษาแบบยืดหยุ่นและระบบคลังหน่วยกิต (Flexible Education & Credit Bank System) Flagship ที่ 3: MU-ISC: Mahidol University-Industry-Social Collaboration “MU as a Thailand ‘s Problem-Solver Flagship ที่ 4.1: โครงการสร้าง Global Talents Platform ด้านการวิจัย และ Flagship ที่ 4.2: โครงการ Finance and Branding

“ผมขอยืนยันว่าทุกคนในทีมมีจิตมุ่งมั่นเดียวกันที่จะเป็น “We Mahidol” เราจะทำให้ผู้คนเห็นว่า มหิดลต้องทำสำเร็จ ด้วยความที่เรามีพลังเป็นหนึ่งเดียว สิ่งแหล่านี้เกิดจากการที่เราทำงานกันเป็นทีม ทำเพื่อมหาวิทยาลัยมหิดล และเพื่อประเทศชาติ เราจะต้องมีความเป็นปึกแผ่นในเวทีสากล ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย ซึ่งไม่ใช่ทำกันเฉพาะในทีม แต่เป็นความร่วมมือของทุกท่าน เป็นความคาดหวังที่เราจะเดินหน้าไปด้วยกัน” ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ กล่าวทิ้งท้าย

Recent post