สัมมนาผู้บริหารมหาวิทยาลัย ( Retreat) ประจำปี 2563 “ Strategies to World Class University : Revisited”
February 2, 2020
บัณฑิตวิทยาลัย ม.มหิดล จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) การวิจัย และการพัฒนานวัตกรรม ระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล กับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ
February 3, 2020

17 นักวิจัย ม.มหิดล คว้ารางวัลในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2563

line_294249068991137-1024x682

งานวันนักประดิษฐ์จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อระลึกถึงวันประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่มีผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยและเป็นครั้งแรกของโลก

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 นางรัตนา เพ็ชรอุไร ที่ปรึกษาด้านการวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีแก่ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลที่เข้ารับรางวัลในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2563 จาก รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 22 ณ Event Hall 102 – 104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ

รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เป็นรางวัลที่มอบให้ นักวิจัย ซึ่งได้อุทิศตนให้แก่การวิจัยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือหลายเรื่องในกลุ่มวิชาการ หรือ สหวิทยาการอย่างต่อเนื่อง มีผลงานวิจัยดีเด่นที่แสดงถึงความคิดริเริ่ม โดยผลงานวิจัยสร้างคุณูปการ และเกิดประโยชน์ในเชิงวิชาการ เชิงเศรษฐกิจ เชิงชุมชน สังคม และเชิงโยบายอย่างต่อเนื่อง เป็นผลงานวิจัยที่ทำสะสมกันมาไม่น้อยกว่า 5 ปี ทั้งเป็นผู้ที่มีจริยธรรมของนักวิจัย เป็นที่ยอมรับ และยกย่องในวงวิชาการนั้นๆสมควรเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยอื่นได้ สำหรับในปีนี้ มีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติรางวัล : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2563 ในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.นายสัตวแพทย์พงศ์ราม รามสูต คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
ศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์พงศ์ราม รามสูต คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นนักวิจัยที่ได้อุทิศตนทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องมุ่งเน้นการศึกษาวิจัยทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพโดยงานวิจัยก่อให้เกิดองค์ความรู้ และแหล่งอ้างอิงทางวิชาการที่สำคัญใน 2 กลุ่มงานวิจัย คือ งานวิจัยทางด้านการผลิตวัคซีน และการสร้างแอนติบอดีในมนุษย์ในการป้องกันรักษาให้เลือดออก โดยเฉพาะผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพนี้สามารถนำไปใช้เป็นองค์ความรู้ และแหล่งอ้างอิงทางวิชาการด้านการผลิตวัคซีนในการป้องกันโรคอื่นๆ ได้ และสามารถใช้เป็นแนวทางในการขยายการผลิตยาชีวภาพระดับโรงงานต้นแบบ และระดับอุตสาหกรรมต่อไป องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยนี้สามารถใช้ในการพัฒนา และต่อยอดงานวิจัยใช้เป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการด้านการผลิตสารแอนติบอดี และวัคซีน งานวิจัยนี้เป็นประโยชน์กับประเทศไทยในด้านพัฒนานวัตกรรมจากงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องเข้ารับการรักษาเป็นเวลานาน ช่วยลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งลดค่าเสียเวลา และโอกาสจากการหยุดงานอีกด้วย อีกทั้ง ศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์พงศ์ราม รามสูต ยังมีความมุ่งมั่นในการสร้างงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่มีคุณภาพเป็นทรัพยากรบุคลากรที่มีความสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

รางวัลผลงานวิจัย เป็นรางวัลที่มอบให้กับนักวิจัย ซึ่งได้อุทิศตนให้แก่การวิจัยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือหลายเรื่องในกลุ่มวิชาการ หรือสหวิทยาการอย่างต่อเนื่อง ผลงานวิจัยดีเด่นที่แสดงถึงความคิดริเริ่ม ต้องเป็นผลงานวิจัยที่ ทำสะสมกันมา ไม่น้อยกว่า 5 ปี ตั้งเป็นผู้ที่มีจริยธรรมของนักวิจัย เป็นที่ยอมรับและยกย่องในวงวิชาการนั้นๆ สมควรเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยอื่นได้ สำหรับในปีนี้ มีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลที่ได้รับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี จำนวน 6 ท่าน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.รักชาติ ไตรผล คณะวิทยาศาสตร์ ผลงานวิจัย เรื่อง “การจัดเรียงตัวและสมบัติทางแสงของอนุพันธ์พอลิไธโอฟีนในสภาวะแวดล้อมต่างๆ” (Chain Organization and Photophysical Properties of Polythiophene Derivatives in Different Local Environments) ศาสตราจารย์ ดร.ลีรา กิตติกุล คณะสาธารณสุขศาสตร์ ผลงานวิจัย เรื่อง “การพัฒนาวิธีเรียลไทม์ อาร์ที-พีซีอาร์ และการตรวจจีโนไทป์ไวรัสโนโร เพื่อเฝ้าระวังโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบเฉียบพลันจากอาหารและน้ำ” (Development of quantitative real – time RT-PCR and Norovirus Genotyping for Surveillance of Acute Gastroenteritis from Food and Water) ศาสตราจารย์ ดร.มัลลิกา อิ่มวงศ์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ผลงานวิจัย เรื่อง “ค้นพบการติดเชื้อมาลาเรีย Plasmodium cynomolgi จากลิงสู่คนตามธรรมชาติ” (Asymptomatic Natural Human Infections with the Simian Malaria Parasites Plasmodium cynomolgi and Plasmodium knowlesi) รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ไชยรัตน์ เพิ่มพิกุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผลงานวิจัย เรื่อง “การศึกษาการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดระดับรุนแรงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเปรียบเทียบระหว่างการบริหารยานอร์อิพิเนฟรินในระยะแรกกับแนวทางการรักษาแบบมาตรฐานเดิม” (Early Use of Norepinephrine in Septic Shock Resuscitation (CENSER): A Randomized Trial) รองศาสตราจารย์ ดร.วุฒิชัย เอื้อวิทยาศุภร คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ผลงานวิจัย เรื่อง “วัสดุลูกผสมซิลเซสควิออกเซน : โมเลกุลติดฟังก์ชันเรืองแสงสำหรับตัวรับรู้” (Silsesquioxane Hybrid Materials-functionalized Fluorescent Molecules for Chemosensors) และ รองศาสตราจารย์ ดร.วรพันธ์ คู่สกุลนิรันดร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (MUICT) ผลงานวิจัย เรื่อง “การค้นหาอัตโนมัติของภาวะเบาหวานขึ้นจอตาจากภาพถ่ายจอประสาทตา” (Automatic Detection of Diabetes Retinopathy based on Digital Retinal images) นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.วรพันธ์ ยังได้รับอีกรางวัล คือ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประเภทรางวัลประกาศเกียรติคุณ จากผลงาน เรื่อง “โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับการจำแนกเมล็ดพันธุ์ข้าวไทยโดยใช้ภาพถ่ายของเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยวิธีการแบบ Mask R-CNN และ Transfer Learning” (Computer Program for Classifying Categories of Thai Rice-Grain Images Using Mask R-CNN and Transfer Learning)

รางวัลวิทยานิพนธ์ เป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักวิจัยที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก ทำงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง เป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ เป็นวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาที่มีสัญชาติในหลักสูตรระดับปริญญาเอกของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งตีพิมพ์เป็นรูปเล่มและได้รับการอนุมัติจากสถาบันการศึกษาแล้วย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี และผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์แล้ว ทั้งนี้เป็นผลงานที่มีคุณภาพใช้วิธีวิเคราะห์หรือสังเคราะห์ที่เหมาะสมยิ่ง มีความชัดเจนมีศักยภาพสูงต่อการนำไปใช้ในอนาคต และได้รับการเผยแพร่ในวารสารที่เป็นที่ยอมรับแล้วในวงวิชาการระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ สำหรับในปีนี้ มีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้รับจำนวน 3 รางวัล รางวัลวิทยานิพนธ์ระดับดีมาก มี 2 รางวัล ได้แก่ ดร.พิพัฒน์ ผิวงาม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล วิทยานิพนธ์ เรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบภาวะพาหะของแบคทีเรียดื้อยาหลายขนานในทางเดินอาหารของประชากรทั่วไปและกลุ่มผู้ป่วย” (Comparative Study of Intestinal Carriage of Mutidrug-Resistant Bacteria between Healthy Population and Patients) และ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ทนงชัย สิริอภิสิทธิ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล วิทยานิพนธ์ เรื่อง “การแบ่งส่วนภาพทางการแพทย์โทนสีเทาแบบสองมิติและสามมิติด้วยวิธีการแปรปรวนพื้นที่ค้นหาในบริเวณใกล้เคียง” (2D and 3D Segmentation of Grayscale Medical Images Using Variable Neighborhood Search) และรางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี ได้แก่ ดร.ภูชิต โนนจุ้ย สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล วิทยานิพนธ์ เรื่อง “การพัฒนาเทคโนโลยีที่รวดเร็วและแม่นยำ ในการบ่งชี้กลไกการทำงานและค้นหายาปฏิชีวนะตัวใหม่ ด้วยการวิเคราะห์ลักษณะสัณฐานวิทยาของเซลล์แบคทีเรียอย่างเป็นระบบ” (Bacterial Cytological Profiling: A Shortcut for Determining Mechanism of Action of Antibacterial Molecules)

รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น เป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักประดิษฐ์สร้างสรรค์ผลงานผลผลิต ผลิตภัณฑ์ กรรมวิธี กระบวนการ วิธีการ มาตรการหรือระบบ ตลอดจนนวัตกรรม วิทยาการต่างๆ ที่ดีเด่นและพิสูจน์แล้วว่าเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ เป็นผลงานที่เกิดจากความคิดริเริ่ม และความเพียรพยายามของผู้ประดิษฐ์คิดค้น ซึ่งเป็นของใหม่หรือปรับปรุงให้ดีขึ้น ทรัพยากรที่ใช้ในการประดิษฐ์คิดค้น ส่วนใหญ่เป็นทรัพยากรที่มีในประเทศไทย มีคุณค่าทางวิชาการ มีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือนำไปใช้ประโยชน์ในทางอื่นได้ สำหรับในปีนี้ มีผลงานจากนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดลที่ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีมาก ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ คณะวิทยาศาสตร์ ผลงาน เรื่อง “ชุดอุปกรณ์เทคโนโลยีเซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดสุขภาพการนอนหลับ” (Sensor Technology for Sleep Monitoring) รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี ได้แก่ ดร.สุพัตรา ตรีรัตน์ตระกูล สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ผลงาน เรื่อง “โมโนโคลนอลแอนติบอดีสำหรับกระตุ้นการวางไข่ในกุ้ง” (Monoclonal Antibody for Induction of Ovarian Maturation in Shrimp) นอกจากนี้ยังมีนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดลที่ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประเภทรางวัลประกาศเกียรติคุณ อีก 5 รางวัล ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรา อภิลักษณ์ คณะเทคนิคการแพทย์ ผลงาน เรื่อง “ชุดทดสอบอิมมูโนโครมาโทกราฟีแบบแข่งขันร่วมกับระบบขยายสัญญาณด้วยซิลเวอร์สำหรับตรวจวัดปริมาณคอร์ติซอลในน้ำลาย” (Competitive Immunochromatographic Test Strip with Silver Enhancement System for Cortisol Detection) ดร.ศรีสุภา ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (MUICT) ผลงาน เรื่อง “เกลาโควิซ : ระบบช่วยเหลือการวินิจฉัยโรคต้อหินเบื้องต้นสำหรับจักษุแพทย์ทั่วไป” (GlaucoVIZ : System for Assisting Glaucoma Diagnosis for General Ophthalmologists) รองศาสตราจารย์ ดร.สุดสงวน งามสุริยโรจน์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (MUICT) ผลงาน เรื่อง “อุปกรณ์วัดการเดินจากการเคลื่อนไหวของข้อเข่าและแรงกดที่ฝ่าเท้า” (Walking Gait Measurement via Knee Movement and Foot Pressure Plantar) ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผลงาน เรื่อง “จับใจ : ระบบหุ่นยนต์ตอบโต้อัตโนมัติเพื่อคัดกรองภาวะซึมเศร้าในผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก” (JubJai : AI Facebook Chatbot for Depression Detection) และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัศนียา รัตนฤาทัย นพรัตน์แจ่มจำรัส คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผลงาน เรื่อง “โปรแกรมจำลองเครื่องจักรเสมือนเพื่อการเรียนรู้ลอจิกเกต” (Arduino-based Logic Gate Emulator)

Recent post