มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย”

มหาวิทยาลัยมหิดลเข้าร่วม ”พิธีแสดงเจตจำนงเข้าร่วมกฏบัตรภาคีปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (Thai AI Consortium)
September 14, 2020
กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม ม.มหิดล จัดโครงการ SDGs Visit (สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ / สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล)
September 14, 2020

มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย”

herb02

วันที่ 14 กันยายน 2563 มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย” โดยมี นายมารุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล นายนเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ และนางอัจฉรา เจริญสุข ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ร่วมลงนามความร่วมมือ ณ ห้องประชุมกรมหลวงวงศาธิราชสนิท สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย กรุงเทพ พร้อมนี้ ได้มีพิธีเปิดป้าย “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย” (Excellence Center for Thai Herbal Product Innovation: ECTHPIn) และเยี่ยมชมศูนย์ ณ ชั้น 3 และชั้น 4 อาคารสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย” เป็นความร่วมมือระหว่าง กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) และสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างบุคลากร ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพรไทย การนำงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในระดับอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับการการตลาดด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีนวัตกรรมด้านคุณภาพ ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการวางรากฐานนวัตกรรมฐาน (Innovation platform) โดยความร่วมมือระหว่าง คณะวิทยาศาสตร์ และ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) จัดตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา” (Excellent Center for Drug Discovery: ECDD) เพื่อรองรับงานวิจัยด้านการศึกษากลไกการเกิดโรค และการค้นหาสารออกฤทธิ์ทางยา เพื่อเป็นจุดตั้งต้นในการค้นหาตัวยาใหม่ในประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย

การทำข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะเชื่อมโยงการทำงานแบบบูรณาการ โดยความร่วมมือระหว่างองค์กรในการทำงานตามความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน โดย มหาวิทยาลัยมหิดล จะร่วมกำหนดแผนการวิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพรที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนแม่บทแห่งชาติ ร่วมสนับสนุนอุปกรณ์การวิจัย เทคโนโลยีขั้นสูง และสนับสนุนบุคลากรร่วมดำเนินการ อีกทั้งร่วมพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศในตลาดผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติระดับสากล โดยความร่วมมือครั้งนี้จะดำเนินการต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี