ม.มหิดล จัดการประกวด Innovation for Campus Sustainability 2019
March 27, 2019
ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมส่วนงาน เข้าร่วมการประชุม The Asia-Pacific Association for International Education (APAIE) ครั้งที่ 14 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
March 27, 2019

ม.มหิดล ร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ U.REKA Batch 2

U.REKA_190327_0008

27 มีนาคม 2562 ศาสตราจารย์ นายแพทย์วชิร คชการ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ U.REKA Batch 2 ณ SCB Academy ชั้น 18 อาคาร SCB Park Plaza ฝั่งตะวันออก โดยเป็นโครงการซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคอุตสาหกรรมในการสนับสนุนผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Technology) และต้องการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีเชิงลึกนั้น โดยเป้าหมายสูงสุดของโครงการนี้ คือ การเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบนิเวศทางนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน

ในปีที่ผ่านมา ได้มีการจัดโครงการในรุ่น 1 ซึ่งมีผลงานวิจัยที่สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น จำนวน 65 โครงการ โดยมีโครงการที่ผ่านการคัดเลือกให้ได้รับทุนจำนวน 5 โครงการ ซึ่งในจำนวนนี้มีโครงการที่มีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้วิจัยหลัก จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการ PORDEEKUM.AI: จูนใจ: แชทบอทผู้ช่วยเหลือด้านอารมณ์สำหรับผู้มีภาวะซึมเศร้า นำวิจัยโดย อาจารย์ ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นการนำความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI มาผสมผสานกับศาสตร์ทางจิตวิทยาอันลึกซึ้ง เพื่อช่วยเหลือผู้คนที่กำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้าผ่านทางการพัฒนาระบบ Psychological Emotional Intelligent AI Engine ซึ่งสามารถประเมิน เข้าใจ และช่วยเหลือเรื่องอารมณ์สำหรับภาวะซึมเศร้าผ่านทางการพูดคุย (Chat Conversation) ได้

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่มีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้ร่วมทีมวิจัยอีก 2 โครงการ โดย อาจารย์ ดร.อัคร สุประทักษ์ กลุ่มวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมวิจัยในโครงการ TINYEPICBRAINS: เทคโนโลยีที่เชื่อมต่อผู้คนเข้าสู่โลกออนไลน์ผ่านวี่ดีโอพร้อมวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อการโฆษณาและสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ สุวรรณะ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมวิจัยในโครงการ QUTE: กลุ่มนักวิจัยไทยผู้มีเป้าหมายคือการเตรียมประเทศไทยให้พร้อมรับเทคโนโลยีควอนตัม

และในปีนี้ ได้มีการดำเนินโครงการ U.REKA รุ่นที่ 2 โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันศึกษาองค์กรชั้นนำ ทั้งไทย และต่างประเทศกว่า 21 ราย ได้แก่ Hello Tomorrow องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มุ่งใช้ Deep Tech แก้ปัญหาระดับโลก Baker McKenzie, 360IP, บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด KX: Knowledge Exchange, บริษัท อนันดาดีเวลลอปเม้นท์ โรงพยาบาลสมิติเวช บริษัทบางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ดับบลิวเอชเอคอปอร์เรชั่น จำกัด ธนาคารไทยพาณิชย์ และดิจิทัล เวนเจอร์ส ร่วมด้วย มหาวิทยาลัย 10 แห่ง ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยแบ่งหัวข้อวิจัยออกเป็น 6 ขอบเขต ได้แก่ 1. AI / Machine Learning 2. Blockchian 3.Cloud & Security 4. Big Data 5. AR/VR 6. Quantum Computing โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยร่วมกับบริษัทให้เกิดผลงานที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในภาคธุรกิจได้ ทั้งนี้ ผู้สนใจสมัครขอรับทุนดังกล่าวสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม และสมัครผ่านระบบออนไลน์ได้ที่ https://www.u-reka.co/ ผู้สนใจสมัครสามารถเลือกหัวข้อวิจัยตามความสนใจ และความเชี่ยวชาญของผู้สมัครและสามารถส่งข้อเสนอโครงการได้มากกว่า 1 โครงการ / ท่านโดยเปิดรับสมัครผ่านระบบออนไลน์ได้ตั้งแต่บัดนี้ – 3 พฤษภาคม 2562

Recent post