คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ SPACE-F  โครงการบ่มเพาะและเร่งรัดการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นด้านนวัตกรรมอาหาร

มหาวิทยาลัยมหิดลต้อนรับเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ ประจำประเทศไทย
February 4, 2019
คณะผู้บริหาร ม.มหิดล รับฟังข้อตกลงการปฏิบัติงานของส่วนงาน (PA -Visit) มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ
February 5, 2019

คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ SPACE-F  โครงการบ่มเพาะและเร่งรัดการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นด้านนวัตกรรมอาหาร

6D673DF4-D0FB-4AA5-AD5D-6DAB3B4DA313

4 กุมภาพันธ์ 2562 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และ บริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ SPACE-F  โครงการบ่มเพาะและเร่งรัดการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นด้านนวัตกรรมอาหาร (SPACE-F: FoodTech Startup Incubator and Accelerator) พร้อมเสวนาและแถลงข่าวเกี่ยวกับความร่วมมือ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA คุณวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม NIA คุณธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรม (Global Innavation Centre) กลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน ณ ห้องประชุมชั้นเอ็ม อาคารอุทยานนวัตกรรม NIA

รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัท ไทยยูเนียนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ NIA ได้ริเริ่มและดำเนินการพัฒนา FoodTech Incubation and Acceleration Program ภายใต้ชื่อ “SPACE-F: สเปซ-เอฟ” โดยเน้นใน 9 ด้าน ได้แก่ 1. อาหารเพื่อสุขภาพ (Health & Wellness) 2. โปรตีนทางเลือก (Alternative Proteins) 3. กระบวนการผลิตอาหารอัจฉริยะ (Smart Manufacturing) 4. บรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต (Packaging Solutions) 5. ส่วนผสมและอาหารใหม่ (Novel Food & Ingredients) 6. วัสดุชีวภาพและสารเคมี (Biomaterials & Chemicals) 7. เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านอาหาร (Restaurant Tech) 8. การตรวจสอบควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร (Food Safety & Quality) และ 9. บริการอัจฉริยะด้านอาหาร (Smart Food Services) โดยมีการตั้งเป้าว่าโครงการ SPACE-F นี้จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มจำนวนวิสาหกิจเริ่มต้นด้านธุรกิจนวัตกรรมอาหารในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 60 รายภายในระยะเวลา 3 ปีตลอดจนตอกย้ำภาพลักษณ์การเป็น “ครัวโลก” และรักษาขีดความสามารถอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยให้ดีได้ยิ่งกว่าเดิม

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง SPACE-F เพื่อสร้าง FoodTech startup ผลักดันการสร้างนวัตกรรมและพัฒนาบัณฑิตที่สนใจให้เป็น Enterpreneur ในอนาคต โดยจะสนับสนุน Ecosystem ในการทำงานวิจัย อันได้แก่ สถานที่ ห้องปฏิบัติการงานวิจัย นักวิจัย องค์ความรู้ ตลอดจนผลงานวิจัยที่มีอยู่ คณะวิทยาศาสตร์หวังว่าการร่วมมือกันของพันธมิตรทั้งสามฝ่ายจะเพิ่มอัตราความสำเร็จของ Startup เหล่านี้ จนกระทั่งสามารถสร้าง Impact ต่อเศรษฐกิจในระดับประเทศไทย และระดับโลกต่อไป 

SPACE-F ตั้งอยู่ในทำเลกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ที่สะดวกต่อการเดินทาง ทั้งจากสนามบิน และการเดินทางเชื่อมต่อไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่อยู่โดยรอบ เช่น กระทรวง โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัย / ทดสอบ ฯลฯ จะส่งเสริมให้ SPACE-F เป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม และธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยภายใต้พื้นที่อำนวยความสะดวกกว่า 1,000 ตารางเมตร ณ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ถูกจัดสรรให้เป็นพื้นที่สำหรับทำงานร่วมกัน สำนักงานชั่วคราว ห้องประชุม และห้องปฏิบัติการสำหรับการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมอาหาร จะมีการจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตามความจำเป็น และความต้องการของสตาร์ทอัพที่จะเข้ามาใช้บริการพื้นที่ รวมทั้งหลักสูตร บุคลากร และการสนับสนุนทรัพยากรด้านการเงินก็จะถูกรวบรวมไว้ที่นี่อย่างครบครัน

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ NIA โทร.0-2017-5555 ต่อ 525 (จิตรภณ) เว็บไซต์ www. nia.or.th หรือ facebook.com/niathailand 

Recent post