คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล จัดงานปาฐกถาโดยนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาเคมี ปี พ.ศ.2559

คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล จัดเสวนา เรื่อง “ถอดบทเรียนการนำวิชาการไปสู่สังคมเพื่อการเป็น คณะสาธารณสุขศาสตร์ รอบรู้สุขภาพ : กรณี ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5”
February 6, 2019
ประชุมหารือ เรื่อง“ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ GRC และวิธีดำเนินการในองค์กรขนาดใหญ่”
February 6, 2019

คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล จัดงานปาฐกถาโดยนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาเคมี ปี พ.ศ.2559

nobel3

6 กุมภาพันธ์ 2562 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานปาฐกถาโดยนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล โดยในครั้งนี้ Professor Bernard L. Feringa จาก Stratingh Institute for Chemistry University of Groningen ประเทศเนเธอร์แลนด์ ผู้ได้รับ Nobel Prize in Chemistry 2016 ได้ให้เกียรติมาบรรยาย Nobel Laureate Lecture เรื่อง “The Art of Building Small From molecular Switches to motors” ณ ห้อง LO1 ตึกกลม คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลพญาไท

Professor Bernard L. Feringa ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับโมเลกุลสังเคราะห์ที่มีขนาดระดับนาโน โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านการสังเคราะห์จากสารอินทรีย์เคมีและสเตอริโอเคมี (Stereochemistry) ศึกษาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของโมเลกุลในลักษณะสามมิติด้วยการกระตุ้นจากพลังงานภายนอก งานวิจัยที่สำคัญ คือ การพัฒนาโมเลกุลสังเคราะห์ให้มีคุณสมบัติเฉพาะโดยสร้างโมเลกุลเลียนแบบมอเตอร์ที่มีอยู่ในธรรมชาติเช่นมอเตอร์ที่ใช้ขับเคลื่อนแฟลเจลลัมของแบคทีเรีย (Flagellum Bacterial) ซึ่งเป็นจักรกลนาโนชีวภาพที่สมบูรณ์แบบของธรรมชาติทำหน้าที่ช่วยในการเคลื่อนที่ของแบคทีเรีย ส่วนหลักการทำงานของโมเลกุลาร์มอเตอร์ที่สังเคราะห์ขึ้นนั้นโมเลกุลสามารถรับพลังงานภายนอก เช่น กรด เบส ความร้อน หรือ แสง แล้วเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เกิดการเคลื่อนที่ หรือการจัดเรียงตัวใหม่อย่างมีทิศทางที่แน่นอน (Molecular Motor) ซึ่งถือเป็นการเอาชนะการหมุนที่ไร้ทิศทางในระดับนาโน นอกจากนั้น ยังได้ออกแบบนาโนแมชชีนในรูปแบบของรถ (Nano car) ที่มีลักษณะคล้ายเครื่องยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อได้สำเร็จในปี 2011 โดยนำเอา Molecular Motor มาประกอบเป็นล้อของรถ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผลงานที่ทำให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี ร่วมกับ Professor Jean-Pierre Sauvage และ Professor Sir James Fraser Stoddart ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับนาโนแมชชีนเช่นกันในปี 2016

ด้วยผลงานดังกล่าวได้นำไปสู่การพัฒนาไปใช้ในการขนย้ายหรือส่งยาไปยังเซลล์เป้าหมายในร่างกาย (Smart drug) และนำไปสู่การรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพในอนาคต เช่น ยารักษามะเร็ง โดยนำเอาโมเลกุลของยาขนถ่ายไปกับนาโนแมชชีน เพื่อส่งไปยังเป้าหมาย (target cell) ทั้งนี้ Smart drug ยังคงต้องอาศัยการพัฒนาเพื่อเอาชนะข้อจำกัดของการควบคุมนาโนแมชชีนในสภาวะแวดล้อมภายในร่างกายมนุษย์ ซึ่งมีอุณหภูมิ หรือปัจจัยหลายๆ อย่างที่แตกต่างกับการทดลองในห้องปฏิบัติการ นอกจากการนำเอานาโนแมชชีนไปใช้ในการรักษาแล้ว ปัจจุบันยังมีการนำเอานาโนแมชชีนไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้นอีกด้วย เช่น การเคลือบนาโนแมชชีนบนผิวกระจก เพื่อทำให้คุณสมบัติของพื้นผิวเปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น

Recent post