ม.มหิดล โดย กองบริหารงานวิจัย จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “โครงการติดอาวุธให้นักวิจัยรุ่นใหม่ ผ่าน Multi Mentoring System” รุ่นที่ 3

การประชุมวิชาการประเพณี 4 สถาบัน ธรรมศาสตร์-เกษตรศาสตร์-มหิดล-กองทัพเรือ ครั้งที่ 21 “มลพิษทางอากาศ: วิกฤตไทย วิกฤตโลก (Air Pollution: Thailand and World Crisis)”
September 6, 2019
มหาวิทยาลัยมหิดลเจรจาความร่วมมือร่วมกับผู้แทนจาก National Cheng Kung University สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)
September 9, 2019

ม.มหิดล โดย กองบริหารงานวิจัย จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “โครงการติดอาวุธให้นักวิจัยรุ่นใหม่ ผ่าน Multi Mentoring System” รุ่นที่ 3

Multi-generation_190909_0001

วันที่ 9 กันยายน 2562 ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “โครงการติดอาวุธให้นักวิจัยรุ่นใหม่ ผ่าน Multi Mentoring System” รุ่นที่ 3 และให้เกียรติบรรยายในหัวข้อ “นโยบายการสนับสนุนนักวิจัยของมหาวิทยาลัยวิจัย” พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ นพ.วชิร คชการ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายในหัวข้อ “ความก้าวหน้าของอาจารย์และนักวิจัยในมหาวิทยาลัย” โดย ณ ห้องประชุมอาคารประชาสังคมอุดมพัฒน์ ชั้น 1 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “โครงการติดอาวุธให้นักวิจัยรุ่นใหม่ ผ่าน Multi Mentoring System เกิดจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกสว.) และ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อสร้างความมั่นใจว่านักวิจัยรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถสร้างโจทย์วิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ผลิตผลงานวิจัยที่มีมาตรฐานสูง ได้รับการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ ตลอดจนกระตุ้นให้นักวิจัยได้มองเห็นแนวทางในการพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประเทศได้ นอกจากนี้ยังได้เล็งเห็นถึงปัญหาและอุปสรรคอันจะส่งผลให้นักวิจัยรุ่นใหม่ใช้ระยะเวลาในการดำเนินโครงการวิจัยนานกว่าระยะเวลาที่กำหนดตามสัญญา จัดให้มีโครงการนี้ขึ้นเพื่อเป็นระบบการช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยรุ่นใหม่ให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของทุนวิจัยได้ รวมถึงจะเป็นกลไกในการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยรุ่นใหม่ให้มีความเข้มแข็งประสบความสำเร็จในอาชีพของการเป็นนักวิจัยอีกด้วย” และกล่าวถึง Knowledge is “Power”กลไกให้นักวิจัยมีความเข้มแข็ง และการมีบทบาทในการสร้างองค์ความรู้ในการสร้างนวัตกรรม และการเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่ร่วมกัน (Learning to Live Together) การติดต่อประสานงานกับนักวิจัยในทุกมุมโลกที่นักวิจัยต้องศึกษาเพื่อทำวิจัยร่วมกัน

การอบรมเชิงปฏิบัติการ “โครงการติดอาวุธให้นักวิจัยรุ่นใหม่ ผ่าน Multi Mentoring System” รุ่นที่ 3 กำหนดจัดระหว่างวันที่ 9 – 11 กันยายน 2562 ณ ห้องประชุมอาคารประชาสังคมอุดมพัฒน์ ชั้น 1 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ “การทำวิจัยกลุ่มผู้ใช้งาน (Research User) อย่างมีชั้นเชิง” การเสวนา หัวข้อ “ทิศทางการสร้างงานวิจัยแบบบูรณาการให้ตอบโจทย์ประเทศและการสร้างเครือข่ายวิจัยระดับนานาชาติ” การบรรยายในหัวข้อ “Research to Innovation” หัวข้อ “การขอและสืบค้นทรัพย์สินทางปัญญา และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” หัวข้อ “จริยธรรมการวิจัยในยุคประเทศไทย 4.0” การบรรยายในหัวข้อ “ทิศทางของ วช. ในการสร้างความก้าวหน้า (career path) ของอาจารย์/นักวิจัยในมหาวิทยาลัย” และการเสวนาในหัวข้อ “ระบบนักวิจัยที่ปรึกษาสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ : ความสำคัญของกลุ่มวิจัย multi-generation researcher” และหัวข้อต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยมือใหม่ ที่สามารถใช้กลยุทธ์จากการอบรมครั้งนี้ เพื่อเพิ่มคุณค่าในงานวิจัยอย่างมั่นใจและมีการสร้างผลงานวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นที่ยอมรับแก่วงการวิชาการอย่างน่าเชื่อถือเพื่อก้าวสู่นักวิจัยมืออาชีพ

Recent post