ดร.ปราณี ฟู่เจริญ ศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยมหิดล รางวัลมหิดลทยากรประจำปี 2561 สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์

คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล จัดงานเสวนา “Flu Voice : มหันตภัยไข้หวัดใหญ่ อาจถึงแก่ชีวิตหากไม่ป้องกัน”
March 21, 2019
ดร.ธีรา ฉันทโรจน์ศิริ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ: รางวัลวิทยานิพนธ์ ประจำปีงบประมาณ 2562 รางวัลระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช
March 22, 2019

ดร.ปราณี ฟู่เจริญ ศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยมหิดล รางวัลมหิดลทยากรประจำปี 2561 สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์

award

ดร.ปราณี ฟู่เจริญ สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (ชีวเคมี) มหาวิทยาลัยมหิดล Ph.D. (Medical Science) มหาวิทยาลัยโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เข้ารับราชการ ณ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พ.ศ.2515 ได้โอนย้ายมารับราชการที่ โครงการวิจัยธาลัสซีเมีย สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2540 ในตำแหน่งนักเทคนิคการแพทย์ (ผู้เชี่ยวชาญพิเศษระดับ 10) ระหว่างปฏิบัติงานท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล พ.ศ.2551 – 2553 รักษาการแทนรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฝ่ายวิจัยและวิชาการ พ.ศ.2549 – 2551 หัวหน้าโครงการวิจัยธาลัสซีเมีย สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ.2542 – 2551 ที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2555

ผลงานวิจัยที่สนใจและได้ทำในศูนย์วิจัยธาลัสซีเมีย ได้แก่ การศึกษาอณูชีววิทยาและปัจจัยทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาการที่แตกต่างกันในผู้ป่วยธาลัสซีเมีย การควบคุมการสร้างเม็ดเลือดแดง และการเกิด apoptosis ในผู้ป่วยธาลัสซีเมียวิธีการตรวจวินิจฉัยธาลัสซีเมีย เคยได้รับรางวัลทะกุจิ ในฐานะนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น ประจำปี 2535 จากกองทุนทะกุจิ มูลนิธิส่งเสริมเทคโนโลยีชีวภาพสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย ร่วมรับรางวัลผลการวิจัยดีเยี่ยม ประจำปี 2538 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เรื่อง “ธาลัสซีเมียและฮีโมโกลบินผิดปกติในประเทศไทย” ประกาศเกียรติคุณนักเทคนิคการแพทย์ที่บำเพ็ญประโยชน์แก่วิชาชีพดีเด่น ประจำปี 2540 สมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทยโล่เกียรติยศศิษย์เก่าดีเด่นคณะเทคนิคการแพทย์มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2540 โล่เกียรติยศศิษย์เก่าดีเด่นบัณฑิตวิทยาลัย ประจำปี ๒๕๔๙

ดร.ปราณี เล่าว่า “แรกเริ่มทำงานอยู่ในห้องปฏิบัติการกลาง ตรวจพวก complete lab และตรวจเลือดทางด้านโลหิตวิทยาของคนไข้โรคต่างๆ ระหว่างที่ทำงานก็มีความแปลกใจว่า มีคนไข้อยู่โรคหนึ่งชื่อธาลัสซีเมีย สงสัยว่าทำไมเขาต้องพาพ่อแม่ญาติพี่น้องมาตรวจด้วย คนที่เป็นโรคทางโลหิตวิทยาอย่างอื่น ไม่เห็นจำเป็นจะต้องมีญาติพี่น้องมาตรวจ อันนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นของความใคร่รู้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับโรคธาลัสซีเมีย หลังจากนั้นก็มีโอกาสไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในปี 2519 และสำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2522 แล้วก็ได้มีโอกาสกลับมาทำงานในที่เดิม แต่เป็นการเริ่มต้นทำการวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องธาลัสซีเมียที่ตัวเองสนใจอยู่ ก็มีการศึกษาเรื่องการสังเคราะห์โปรตีนว่า การสร้างโปรตีนในคนไข้ธาลัสซีเมียผิดปกติไปอย่างไร แล้วก็เป็นที่มาของการศึกษาเรื่องนี้มาเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี 2535 มีโอกาสไปศึกษาต่อปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยโกเบ แต่ปฏิบัติการทำงานวิจัยจริงๆ ที่มหาวิทยาลัยคิวชิว เป็นการศึกษาทางด้านอณูชีววิทยา แต่ก่อนหน้านั้นจริงๆ แล้ว ได้มีโอกาสไปดูงานที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้มีการสกัด DNA ได้รู้จักว่า DNA คืออะไรที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียนี่เอง โดยการที่เราสามารถเจาะเอาเลือดมา สมัยนั้นเทคโนโลยีก็ยังไม่ค่อยทันสมัย ต้องเจาะเลือดถึง 30 CC สกัดกันค้างคืนในห้องเย็น แต่ผลที่ได้ออกมาเป็นเพียงแค่เส้นด้ายเส้นนิดเดียว เรียกได้ว่าเป็นเส้นใยแห่งชีวิตจริงๆ  เหมือนเส้นด้ายขาวๆ แปะติดอยู่ปลายแท่งหลอดแก้วเท่านั้นเอง เส้นด้ายเส้นนี้เป็นตัวกำหนดลักษณะต่างๆ ของมนุษย์ เลยยิ่งรู้สึกอัศจรรย์ใจว่า ร่างกายของเราเติบโตขึ้นมาด้วยการควบคุมของ DNA เส้นขาวๆ ที่เรามองด้วยตา และสกัดออกมาจากเลือดนี่เอง ก็ยิ่งทำให้สนใจใคร่รู้ และสมัยนั้นวิชาที่เรียกว่า อณูชีววิทยา หรือ molecular biology เพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นานในโลก นับว่าตัวเองมีโอกาสที่ดีมากเลยที่ได้ไปเห็นสิ่งนี้ขึ้นมา แล้วหลังจากกลับมาแล้ว ก็มีโอกาสที่จะได้ไปดูงานทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ กับ  Professor Sir David Weatherall ซึ่งท่านถึงแก่กรรมไปแล้วเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา ก็นับว่าเป็นการสูญเสียที่น่าเสียดายอย่างยิ่งของโลกเลยทีเดียว”

“ผู้ที่มีคุณูปการอย่างสูงต่อการทำงานและการศึกษาวิจัยของตัวเอง จริงๆ แล้วก็คือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ท่านเป็นคนริเริ่มสอนให้รู้จักการคิด การแก้ปัญหา การเขียนบทความวิจัย การที่จะเสนอผลงานวิจัยในที่ประชุมต่างๆ ก่อนที่จะดูงานที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ท่านบอกให้ไปอ่านมาว่าสิ่งที่ตัวเองจะต้องไปดูงานมันคืออะไร และสมัยนั้นยีนก็ยังไม่เคยเรียนมาด้วยซ้ำ ต้องไปอ่าน textbook ซีรอกซ์สมัยนั้นก็ยังไม่มี ต้องลอกแปลออกมาจาก textbook มาเป็นเล่ม เป็นคำภาษาไทย แล้วมาย่ออีกที แล้วมา present ให้ที่ประชุมฟังว่าตัวเองกำลังจะไปทำอะไร และคาดหวังอะไร แล้วถึงได้ไป แล้วก็ต้องมาเสนอต่อว่าที่ไปดูมา ไปทำอะไรมา ไปทำอะไรบ้าง ได้ประโยชน์อะไรบ้าง จะทำให้เกิดขึ้นได้ในประเทศไทยหรือเปล่า แต่ความจริงในขณะนั้นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ก็ยังค่อนข้างยาก ก็ถือเป็นความรู้ขั้นพื้นฐานของตัวเองไป แล้วก็ได้ทำการศึกษาวิจัยจนกระทั่งมีการค้นพบที่สำคัญเกี่ยวกับการศึกษาทางด้าน molecular biology หรืออณูชีววิทยาเกิดขึ้นในโลก เราก็ได้มีส่วนร่วมใช้การวิจัย หรือการศึกษาในเรื่องนั้นมาทำให้เกิดประโยชน์ เทคนิคเป็นที่รู้จักกันดีคือ PCR เราก็ใช้ความรู้ในเรื่องนี้ มาศึกษาวิจัยเรื่องยีน โกลบินที่ผิดปกติ ที่เป็นสาเหตุของโรคธาลัสซีเมียในประเทศไทย จนกระทั่งเราสามารถที่จะช่วยคนไข้ ครอบครัวที่มีความเสี่ยงต่อการมีลูกเป็นโรคธาลัสซีเมียโดยการตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ว่าเป็นโรคธาลัสซีเมียหรือไม่ แล้วก็มีการตรวจ screen เพื่อที่จะดูว่าใครเป็นคู่เสี่ยง หรือใครที่มียีนแฝงธาลัสซีเมียอยู่บ้างในประเทศ จนกระทั่งมีการนำไปใช้โดยกระทรวงสาธารณสุข ทั้งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย กรมการแพทย์ มีการควบคุมป้องกันโรคนี้ขึ้นในประเทศไทย และก็ได้ผลสำเร็จในระดับหนึ่ง

“สิ่งที่อยากจะบอกกับน้องๆ นักศึกษาคือว่า ไม่ว่าเราจะทำงานอะไรก็ตาม ขอให้มีความสงสัย ใคร่รู้ สังเกตุสิ่งที่เราพบเจอ แต่ไม่ใช่สังเกตุแล้วปล่อยผ่าน เราต้องพยายามค้นคว้า เพราะว่าความรู้ในปัจจุบันมีมากมายยิ่งกว่าสมัยก่อน เราไม่มีทางที่จะรู้ได้หมดจากการศึกษาในมหาวิทยาลัย หรือในห้องเรียน เราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตว่ามีอะไรบ้าง จากอันนั้นจะเป็นการจุดประกายทำให้เราใคร่รู้มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วเราก็ต้องขวนขวาย มีความมานะ พยายามที่จะทำในสิ่งที่เราชอบ ต้องหาตัวเองให้เจอว่าชอบอะไร ชอบสอน หรือชอบทำ บางคนชอบทั้งสอน ชอบทั้งทำ เราก็ต้องหาเวลาทำในสิ่งนั้น สิ่งที่ตัวเองชอบให้ได้ เพื่อให้ไปสู่จุดมุ่งหมายที่เราต้องการ แล้วความสำเร็จในชีวิตและการทำงานก็จะตามมาเท่านั้นเอง ก็หวังว่าน้องๆ ไม่ว่าจะอยู่สาขาวิชาชีพอะไรก็แล้วแต่ หรือเข้าศึกษาอะไรก็แล้วแต่ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ คือไม่ใช่ว่าเราอยากรู้ เราก็อยู่เฉยๆ ไม่มีอะไรลอยมาเอง ทุกอย่างไม่ได้เกิดขึ้นโดยปาฏิหาริย์ แต่เกิดขึ้นโดยการกระทำของตัวเราเองทั้งนั้น นอกจากนี้ต้องไม่ลืมให้ความสำคัญกับผู้ร่วมงาน และที่สำคัญจะต้องไม่ลืมให้ความสำคัญกับครอบครัวด้วย”

Recent post