สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561

มหาวิทยาลัยมหิดลเข้าร่วมการประชุมการเตรียมงาน PMAC
May 17, 2019
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัย มหิดล แถลงข่าวการจัดกิจกรรม“ศาลปกครอง – ศิริราช เดิน – วิ่ง เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก”
May 17, 2019

สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561

ประชุมสมาคมศิษย์เก่า_๑๙๐๕๑๗_0007

17 พฤษภาคม 2562 พลตำรวจเอก นายแพทย์จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561  ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร สมาชิกวุฒิสภา อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และประธานคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา ให้เกียรติบรรยายพิเศษในหัวข้อ “กระทรวงอุดมศึกษาฯ: การเปลี่ยนแปลงและเตรียมตัวบุคลากร“  ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 อาคารสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดลฯ (อาคารสิริวัฒนภักดี) ประตู 5 มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยมีผู้บริหารมหาวิทยาลัย และส่วนงาน ร่วมประชุมและฟังการบรรยาย อาทิ รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงจุฑามณี สุทธิสีสังข์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร. กัมปนาท ภักดีกุล คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร. ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ รองศาสตราจารย์รศรินทร์ เกรย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม และ อาจารย์ ดร. ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์

อุดมศึกษาไทย เกิดขึ้นตั้งแต่รัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในปี 2502 ได้มีการตราพระราชบัญญัติโอนมหาวิทยาลัยทุกแห่งไปสังกัด สำนักนายกรัฐมนตรี และในปี 2514 ได้มีการแยกมหาวิทยาลัยออกจากระบบราชการ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล และมีการจัดตั้ง “ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ“ ซึ่งต่อมาในปี 2520 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ทบวงมหาวิทยาลัย” แล้วยกฐานะเป็นทบวงอิสระมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ไม่อยู่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน จนปี 2546 มีการปฏิรูปประเทศทำให้ทบวงมหาวิทยาลัยต้องแปรสภาพไปเป็นสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และต้องไปอยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อความเป็นเอกภาพ แต่การบริหารจัดการระดับอุดมศึกษามีความแตกต่างจากการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างสิ้นเชิง จนทำให้การบริหารงานอุดมศึกษาไม่มีความคล่องตัว ไม่พัฒนาเท่าที่ควร และที่สำคัญไม่สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ จึงมีคนอุดมศึกษาออกมาเรียกร้องขอให้แยก สกอ. ออกจาก ศธ. ในหลายรัฐบาล จนมาถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการเรียกร้องให้จัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา เพื่อมาดูงานอุดมศึกษาโดยเฉพาะ จนเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการอุดมศึกษาครั้งใหญ่ โดยราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศให้มีจัดตั้ง “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” อย่างเป็นทางการ มีการรวมหน่วยงานอุดมศึกษากับหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศทั้งหมดมาอยู่ภายใต้กระทรวงเดียวกัน ส่งผลให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ต้องยุติบทบาททันที

ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายของมหาวิทยาลัยในอนาคตอันใกล้นี้คือ ผู้สูงวัย และวัยทำงาน จึงต้องปรับหลักสูตรเพื่อรองรับ โดยเป็นหลักสูตรระยะสั้นเสริม ทักษะวิชาชีพ ที่ไม่เน้นปริญญาบัตร และต้องเตรียมความพร้อมผู้สูงวัยตั้งแต่บัดนี้ เนื่องจากจำนวนประชากรวัยเด็กลดลง ส่งผลให้มีเด็กเรียนต่อระดับอุดมศึกษาน้อยลงทุกปี ในขณะที่ประชากรวัยทำงานและผู้สูงวัยมีจำนวนมากขึ้น จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว นอกจากนี้ ในอนาคตมหาวิทยาลัยต้องเล็กลง หลักสูตรในมหาวิทยาลัยใดที่ไม่ปรับปรุง ล้าสมัย หรือไม่มีผู้เรียน ก็ต้องปิดหลักสูตร และอยากให้อาจารย์ทุกคนพัฒนาตนเอง พัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยตลอดเวลา หากไม่ปรับตัวมหาวิทยาลัยก็จะอยู่ไม่ได้

Recent post