ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสุวนิตย์ ธีระศักดิ์วิชยา ครูแพทย์ผู้วางกรอบแนวคิด 9 ลักษณะ ในการวางแผนการดูแลผู้ป่วยให้เป็นระบบตามมาตรฐานอย่างมีคุณภาพ

มหาวิทยาลัยมหิดลจัดประชุมประชาสัมพันธ์ทุนวิจัยจากเงินรายได้มหาวิทยาลัย ครั้งที่ 3
November 22, 2019
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ร่วมกับ กระทรวงพม. สสส. จัดงานแถลงข่าวสร้างความตระหนักรู้ “ยุติความรุนแรงจากควันบุหรี่”
November 22, 2019

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสุวนิตย์ ธีระศักดิ์วิชยา ครูแพทย์ผู้วางกรอบแนวคิด 9 ลักษณะ ในการวางแผนการดูแลผู้ป่วยให้เป็นระบบตามมาตรฐานอย่างมีคุณภาพ

DSC_1437

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสุวนิตย์ ธีระศักดิ์วิชยา สาขาวิชามะเร็งวิทยานรีเวช ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ครูแพทย์ผู้วางกรอบแนวคิด 9 ลักษณะ ให้กับนักศึกษาเพื่อใช้ในการวางแผนการรักษาดูแลผู้ป่วย ให้เป็นระบบตามมาตรฐานอย่างมีคุณภาพ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสุวนิตย์ กล่าวว่า “อาจารย์เป็นครูแพทย์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 จนปัจจุบัน สังกัดภาควิชาสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล การสอนนักศึกษาแต่ละรุ่นไม่เหมือนกัน สิ่งที่สำคัญในชีวิตการเป็นครูแพทย์คือเราไม่ควรที่จะสอนให้เขาเชื่อเราได้อย่างง่ายๆ แต่ควรสอนให้เขาคิด เพราะนักศึกษาที่เข้ามาเป็นแพทย์ทุกคนมีศักยภาพ แต่ทำอย่างไรจะกระตุ้นให้เขาแสดงศักยภาพของเขาออกมา จึงใช้วิธีการสอนแบบกระตุ้นให้คิดและติดตามเชื่อมโยงกัน เพราะผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาแต่ละคนจะมีลักษณะอาการไม่เหมือนกัน อาจารย์จึงแนะนำให้เขาคิดและติดตาม ถ้าเขาสามารถคิด ติดตามเชื่อมโยงได้แล้ว เขาจะเข้าใจถึงความต่อเนื่อง  การดำเนินของโรคหรือการเปลี่ยนแปลงความผิดปกตินั้นๆ รวมถึงการดูแลรักษาว่าจะรักษาแบบใด ผลการรักษาเป็นเช่นไร จะทำให้สามารถเพิ่มพูนทักษะประสบการณ์พร้อมพัฒนาตนเองในการดูแลรักษาหรือป้องกันความเจ็บป่วย ให้ได้คุณภาพ นอกจากนั้นเรื่องของการเรียนการสอน อาจารย์จะต้องให้เขารู้ว่าวิชาการและเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เขาจะต้องปรับตัวพัฒนาการดูแลรักษาให้ได้ตามมาตรฐาน และความมีมาตรฐานนั้นจะต้องสัมพันธ์กับจรรยาบรรณวิชาชีพ สอนให้นักศึกษายึดหลัก “เอาใจเขามาใสใจเรา” การที่เราสอนคนจบออกไปเป็นแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ในระดับไหน เขาจะต้องกลับไปทำงานตามบทบาทหน้าที่ที่เขาอยู่ จากการที่เขาได้ฝึกคิดและติดตามเชื่อมโยง สุดท้ายเขาจะสามารถพัฒนาตนเอง และสามารถที่จะร่วมทำงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นในฐานะที่เขาเป็นแพทย์และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้”

นอกจากการสอนให้ คิด ติดตามเชื่อมโยง การดูแลรักษาได้อย่างต่อเนื่อง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสุวนิตย์ ธีระศักดิ์วิชยา ยังได้วางกรอบแนวคิด 9C  เพื่อการทำงานเป็นแพทย์ที่สมบูรณ์ได้ “การที่เราสอนศิษย์ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านต่อยอด อาจารย์มองเห็นว่าถ้าได้วางกรอบแนวคิดการดูแล รักษาหรือป้องกันโรค ให้เขาได้เห็นภาพกว้าง ฝึกให้คิดเชื่อมโยง ไม่ว่าเขาจะจบไปเป็นแพทย์ระดับไหน จะสามารถนำกรอบนี้ไปใช้ในชีวิตการเป็นแพทย์เพื่อดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมครอบคลุม และสามารถพัฒนาตัวเองต่อเนื่องได้ อาจารย์จึงคิดกรอบง่ายๆ ที่เรียกว่า 9C คือ C1 Complaint อาการความเจ็บป่วยของผู้ป่วยเป็นอย่างไร จะจับประเด็นมาผูกวิเคราะห์ ร่วมกับ C2 Concern ความวิตกกังวลและความต้องการของผู้ป่วยและหรือญาติคืออะไร (patient concern) เพราะผู้ป่วยจะมีความวิตกังวลซ่อนเร้นอยู่ แพทย์ควรทำให้เขาคลายความวิตกกังวลให้ได้ (รวมด้านจิตใจ) นอกจากนี้ต้องเพิ่มมุมมองทางผู้รักษาด้วยว่า มีประเด็นปัญหาใดที่ผู้ป่วยควรตระหนักหรือรับรู้ เพื่อประโยชน์ของตนเองและหรือครอบครัว (physician concern) C3 Cause ด้วยความที่เป็นแพทย์ เราจะต้องหาสาเหตุหรือปัญหาที่มาของโรค ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุหลัก สาเหตุร่วมหรือสาเหตุที่เป็นตัวประกอบของโรคที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย เพื่อการแก้ไขหรือป้องกัน C4 Course สภาวะของผู้ป่วยหรือสภาวะของโรคขณะที่เราพบอยู่ในช่วงใด และในฐานะที่เราเป็นแพทย์คาดว่าโรคนี้จะดำเนินการไปอย่างไร เพราะจะต้องวางแผนเพื่อที่จะดูแลให้เหมาะสม ทันการณ์ เป็นการป้องกันโรคหรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ  C5 Choices ปัจจุบันวิชาการและเทคโนโลยีมีความก้าวหน้า ทำให้มีทางเลือกในการสืบค้นและรักษามากขึ้น แพทย์ต้องหมั่นศึกษาติดตามเพิ่มพูนความรู้ เพื่อให้ได้มีข้อมูลที่จะบอกทางเลือก ผลดี ผลด้อย ให้ผู้ป่วยและหรือญาติทราบ และมีส่วนร่วมเลือกทางสืบค้นและรักษา อันที่จะเกิดผลเสียกระทบในการรักษาผู้ป่วยให้น้อยที่สุด  C6 Cost ค่าใช้จ่ายในแต่ละทางเลือกของผู้ป่วย แม้ปัจจุบันมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม หรือรูปแบบค่าใช้จ่ายต่างๆตามกฎระเบียบของโรงพยาบาล หรือกฎหมาย จึงควรแจ้งให้ผู้ป่วยทราบ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและร่วมในการตัดสินใจด้วย C7 Complication ในการรักษาแต่ละครั้งอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นก่อนมาถึงโรงพยาบาลแล้ว หรืออาจจะเกิดขึ้นตามมาภายหลัง เราจะทำอย่างไร ซึ่งแพทย์จะต้องให้ข้อมูลชี้แจง หรือพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิด หรือต้องเตรียมการแก้ไข เหตุการณ์เหล่านั้น  C8 Consequence ผลที่เกิดตามมาของการรักษาซึ่งเลี่ยงไม่ได้  ตัวนี้จะต่อเนื่องจาก C ต่างๆที่ผ่านมา เราจะต้องมีการวางแผนและมองให้ครอบคลุมถึงผลต่างๆ ที่จะตามมาในการรักษาเพื่อบรรเทาหรือส่งเสริม ฟื้นฟูให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นตามศักยภาพของแต่ละคน  และสุดท้ายคือ C9 Counseling คือการให้คำปรึกษาแนะนำและร่วมกันตัดสินใจพร้อมการเสริมด้านกำลังใจ เพื่อที่จะทำให้ผลการดูแลรักษานั้นได้คุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความพึงพอใจของผู้ป่วยและญาติ ซึ่งทั้งหมดนี้คือกรอบแนวคิดที่แพทย์ทุกระดับสามารถนำไปใช้ได้ค่ะ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสุวนิตย์ ธีระศักดิ์วิชยา ยังได้รับ “รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาความเป็นครู ประจําปการศึกษา 2561” ซึ่งได้เข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจา กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2562 ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร ที่ผ่านมา “อาจารย์ต้องขอบพระคุณมหาวิทยาลัยมหิดลที่ทำรู้สึกว่าได้ใช้การตั้งใจที่จะเป็นครูแพทย์มาตั้งแต่ปี 2536 และคิดว่าถ้ากำลังยังมี และยังสามารถได้อยู่ก็คงจะดำเนินสิ่งนี้ต่อไป และจะช่วยสร้างแพทย์ที่ตอบสนองต่อสังคม ประเทศและผืนโลก เพื่อที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของทุกๆ คนดีขึ้น”

Recent post