พื้นที่ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐมนั้น ถือเป็นพื้นที่ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับกรุงเทพมหานครอยู่ห่างจากใจกลางเมืองประมาณ 20 กิโลเมตร และยังเป็นจุดเชื่อมต่อ 3 จังหวัดคือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และนครปฐม ศาลายามีประชากรโดยรวมมากกว่า 10,000 คน ทั้งที่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์และเป็นกลุ่มประชากรแฝง จากนักเรียน นักศึกษา และพนักงานในมหาวิทยาลัยมหิดล อันเป็นสถานศึกษาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในพื้นที่
ศาลายาเป็นย่านชานเมืองที่กำลังเติบโตมีการพัฒนาเชิงพาณิชย์ และที่อยู่อาศัย อย่างกระจัดกระจายโดยขาดการวางแผนการใช้ที่ดินแบบบูรณาการ รวมถึงแผนการขนส่งและการจราจรที่สอดคล้องกัน การเข้าถึงเครือข่ายการขนส่งสาธารณะยังขาดการพัฒนาดังจะเห็นได้จากการใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นการเดินทางหลักของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ จากปัญหาดังกล่าว รัฐบาลจึงมีนโยบายการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงบางซื่อ-ศาลายา โดยคาดการณ์ว่าจะทำให้มีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 20,000 คนซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่าจำนวนผู้โดยสารที่มีในปัจจุบันถึง 10 เท่า ดังนั้นจึงควรมีแผนรองรับการพัฒนาของรถไฟสายสีแดงที่จะเกิดขึ้นเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของพื้นที่และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาพื้นที่ศาลายาได้มีการเติบโตจากชุมชนชานเมืองชนบทไปสู่การเป็นเมือง มหาวิทยาลัยมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงนี้นำมาซึ่งโอกาสมากมาย เช่น การขยายเครือข่ายการคมนาคมที่ดีขึ้นหรือการเข้าถึงการศึกษา การเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพและอื่น ๆ แต่เรื่องการจราจรติดขัดก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่รอการแก้ไข การมีมหาวิทยาลัยมหิดลในพื้นที่ศาลายาจึงเป็นโอกาสดีสำหรับชุมชนท้องถิ่นรัฐบาล ในการรับมือกับความท้าทายของการกลายเป็นเมือง ดังนั้น มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ริเริ่มโครงการ “Smart Mobility for Salaya City” (Smart Salaya) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาการเติบโตของพื้นที่ และวางแผนการใช้พื้นที่ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาดในด้านกายภาพสังคมและเศรษฐกิจของเมืองโดยทีมสหสาขาวิชาของผู้เชี่ยวชาญ โดยแบ่งทำงานเป็น 2 โครงการหลัก ดังนี้
“การพัฒนาระบบขนส่งในพื้นที่ศาลายาเพื่อการเดินทางแบบไร้รอยต่อ” เป็นการวางแผนการขนส่งอย่างยั่งยืนเน้นการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะระบบหลักและระบบรองอย่างไร้รอยต่อ พร้อมกับการเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่ด้วยการเดินเท้า ทำการวิจัยสำรวจทัศนคติและวิเคราะห์ความอ่อนไหวต่อปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวและผู้ที่เข้ามาเยี่ยมเยือน เพื่อนำมาออกแบบเส้นทางและรูปแบบการบริการระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อการเดินทางจากสถานีรถไฟไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในพื้นที่ศึกษา พร้อมทั้งข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวและการบริการ จะถูกรวบรวมไว้ในฐานข้อมูล ผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ ทำให้สามารถวางแผนการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“การพัฒนาศักยภาพชุมชนเพื่อสร้างสรรค์ศาลายาเมืองน่าอยู่” เป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุมชนศาลายา โดยให้สถานีรถไฟศาลายาเป็นศูนย์กลางการพัฒนา และใช้หลักการพัฒนารอบสถานีขนส่ง (Transit-oriented Development – TOD) เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ความหนาแน่นสูง มีการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน มหาวิทยาลัยมหิดลจะประสานงานกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดของพื้นที่ศึกษา เพื่อกำหนดขั้นตอนและวิธีการ รวมทั้งกรอบเวลาในการพัฒนา พื้นที่ศาลายาจะถูกวางผังให้สามารถเข้าถึงทุกส่วนด้วยการเดินเท้า จักรยาน หรือระบบขนส่งอื่น เพื่อลดการพึ่งพารถยนต์ส่วนตัวลง การวางแผนจะคำนึงถึงการเชื่อมต่อกับพื้นที่รอบนอก เช่น มหาวิทยาลัยมหิดลและพุทธมณฑล ด้วยระบบขนส่งสาธารณะรวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้เดินเท้าและผู้พิการ นอกจากนั้นจะมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาปรับใช้เพื่อให้ข้อมูลผู้เดินทาง แจ้งข่าวสารและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยรวมของคนในชุมชน เพื่อให้ดำเนินชีวิตได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ การเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างพื้นที่ต่างๆ จะช่วยฟื้นฟูสภาพชุมชนให้กลับมีชีวิตชีวา เกิดธุรกิจการค้าการลงทุนในพื้นที่ ส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนรอบทางรถไฟ
โดยมหาวิทยาลัยมีวัตถุประสงค์หลักที่จะใช้องค์ความรู้ของมหาวิทยาลัย เข้ามาช่วยพัฒนารูปแบบการเดินทางที่ดีขึ้นสำหรับประชากรท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว เน้นปรับปรุงการคมนาคมขนส่งสาธารณะภายในพื้นที่ศาลายาและเชื่อมต่อสู่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ สร้างแนวปฏิบัติด้านการวางแผนการคมนาคมการขนส่งสาธารณะโดยลดการพึ่งพาการใช้ถนน ลดจำนวนยานพาหนะและลดมลพิษบนท้องถนน ด้วยนโยบายสำหรับการเดินทางอันอย่างชาญฉลาด สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก และบริการขนส่งสาธารณะได้โดยง่ายของประชาชนในพื้นที่ศาลายา รวมถึงนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย