อาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล คว้ารางวัลผลงานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2560

การบรรยายพิเศษ “รู้ทันประโยชน์และปัญหาการใช้เทคโนโลยีกับการเรียนรู้
May 23, 2018
มหาวิทยาลัยมหิดล ต้อนรับคณะผู้บริหารกองทัพเรือในโอกาสเข้าศึกษาดูงานด้านการพัฒนาองค์การสู่มาตรฐานนานาชาติ
May 23, 2018

อาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล คว้ารางวัลผลงานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2560

reserach8

23 พฤษภาคม 2561 รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงจุฑามณี สุทธิสีสังข์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยมหิดล มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีแก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภา วิรเศรษฐ์ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง และภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในโอกาสเข้ารับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ประจำปี 2560 ด้านนโยบาย จากผลงาน “การวิจัยเพื่อพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางไทยระดับระหว่างประเทศ” โดยเข้ารับจาก พลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ณ ห้องบอลรูม 1 – 2 โรงแรมสวิสโซเทล เลอคองคอร์ด กรุงเทพฯ

ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกเส้นด้ายยางมากที่สุดในโลก และส่งออกถุงมือยางมากเป็นอันดับสองของโลก (ที่มา : Global Trade Atlas 2017) ประเทศไทยมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ถุงมือยางที่ใช้ในงานบ้าน คือ มอก. ‭2476-2552‬ และ มอก. ที่เกี่ยวกับเส้นด้ายยาง ได้แก่ มอก. ‭2556-2554‬ เส้นด้ายยาง และ มอก. ‭2577-2556‬ วิธีทดสอบเส้นด้ายยาง แต่อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังไม่มีมาตรฐานเกณฑ์กำหนดคุณภาพระดับระหว่างประเทศ (ISO) มีเพียงมาตรฐานวิธีทดสอบเส้นด้ายยาง ISO 2321:2006 Rubber threads – Methods of test ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2006 โดยยังมิได้มีการปรับปรุงตั้งแต่ประกาศใช้ แผนงานวิจัย “การวิจัยเพื่อพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางไทย” ประกอบไปด้วย 2 โครงการย่อย ได้แก่ โครงการย่อยที่ 1 “การวิจัยเพื่อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ถุงมือยางที่ใช้ในงานบ้านระดับระหว่างประเทศ” และโครงการย่อยที่ 2 “การวิจัยเพื่อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์เส้นด้ายยางระดับระหว่างประเทศ” ซึ่งในโครงการย่อยที่ 2 ได้ทำการปรับปรุงมาตรฐานวิธีทดสอบเส้นด้ายยางระดับระหว่างประเทศให้มีความถูกต้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยในการวิจัยมาตรฐานระดับระหว่างประเทศมีการจัดทำร่างมาตรฐาน 4 ขั้นตอน/ระดับ ได้แก่ 1) New Work Item Proposal (NWIP) 2) Committee Draft (CD) 3) Draft International Standard (DIS) และ 4) Final Draft International Standard (FDIS) เสนอตามขั้นตอนการดำเนินการของ ISO โดยอ้างอิง มอก.
ในการจัดทำร่างมาตรฐานในแต่ละขั้นตอน/ระดับ คณะผู้วิจัยจะทำการศึกษา ทดสอบ วิเคราะห์และรวบรวมข้อมูล และจัดทำร่างมาตรฐานฯ แล้วจึงจัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ผลิต ผู้ใช้ นักวิชาการ คณะกรรมการวิชาการรายสาขา คณะที่ 29 ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อขอข้อคิดเห็นต่อร่างมาตรฐานก่อนที่จะนำส่งร่างมาตรฐานต่อที่ประชุม/คณะกรรมการ ISO ซึ่งการผลักดันร่างมาตรฐานแต่ละขั้นตอน/ระดับจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ในการประชุม ISO/TC45 ที่จัดขึ้นเป็นประจำปีละครั้ง จากผลการวิจัยของโครงการฯ คณะผู้วิจัยได้นำส่งร่างมาตรฐานฉบับ Final Draft International Standard (FDIS) และฉบับพร้อมประกาศใช้ (IS) ให้กับทาง ISO
1. ISO/FDIS 20057 Rubber household glove – General requirements and test methods
2. ISO/FDIS 20058 General purpose rubber threads – Specification
3. ISO/IS 2321 Rubber threads – Methods of test
ซึ่งทาง ISO ได้ประกาศใช้แล้วทั้ง 3 ฉบับในปี 2560 และคณะผู้วิจัยได้ทำการปรับปรุง มอก. ทั้ง 3 ฉบับให้สอดคล้องกับร่างมาตรฐานฯ ที่ส่งให้กับทาง ISO เพื่อให้สมอ. พิจารณาประกาศใช้ต่อไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดให้มีคัดเลือกผลงานวิจัยที่สมควรได้รับการยกย่องให้เป็นผลงานวิจัยเด่น สกว. เป็นประจำทุกปี ปัจจุบัน สกว.ได้มีนโยบายปรับประเภทของผลงานวิจัยเด่นให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยของ สกว. ได้แก่ การใช้ประโยชน์ด้านนโยบาย การใช้ประโยชน์ด้านสาธารณะ การใช้ประโยชน์ด้านพาณิชย์ การใช้ประโยชน์ด้านชุมชนและพื้นที่ และการใช้ประโยชน์ด้านวิชาการ โดยคณะกรรมการฯ จะคัดเลือกผลงานวิจัยเด่น จำนวนทั้งสิ้น 14 ผลงาน

Recent post