คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล จัดงานแถลงข่าว “แพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดีรายงานผลวิจัยพบความเสียหายของสมองนักมวยเด็ก วอนกระทรวงท่องเที่ยวกีฬา และรัฐบาล สนับสนุนการแก้ไข พ.ร.บ. กีฬามวย 2542ฯ”

ม.มหิดล แสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นแพทย์ศิริราช ประจำปี 2561
October 25, 2018
การบริหารการศึกษาของมหาวิทยาลัยแนวใหม่
October 25, 2018

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล จัดงานแถลงข่าว “แพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดีรายงานผลวิจัยพบความเสียหายของสมองนักมวยเด็ก วอนกระทรวงท่องเที่ยวกีฬา และรัฐบาล สนับสนุนการแก้ไข พ.ร.บ. กีฬามวย 2542ฯ”

RaMa-Boxing_181025_0002

วันที่ 25 ตุลาคม 2561 ศาสตราจารย์แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ หัวหน้าศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้า (ศูนย์ไอแมค) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย อาจารย์ นายแพทย์ ดร.วิทยา สังขรัตน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยมี รองศาสตราจารย์ นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เข้าร่วมการแถลง ข่าว “แพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดีรายงานผลวิจัยพบความเสียหายของสมองนักมวยเด็ก วอนกระทรวงท่องเที่ยวกีฬา และรัฐบาล สนับสนุนการแก้ไข พ.ร.บ. กีฬามวย 2542 ตามเสนอของอนุกรรมาธิการด้านการศึกษา กีฬา เพื่อปกป้องสมองเด็ก และส่งเสริมมวยไทยให้เป็นวัฒนธรรมที่สวยงามไม่ป่าเถื่อนและเป็นกีฬาสำหรับเด็กทุกวัยอย่างแท้จริง” ณ ห้องประชุมศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก อาคารพัสดุ ชั้น 3 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

โครงการวิจัยและติดตามกลุ่มนักมวยเด็ก ที่ศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้า (ไอแมค) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ดำเนินการโดยหัวหน้าโครงการ ได้แก่ ศาสตราจารย์แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ , อาจารย์ นายแพทย์ ดร.วิทยา สังขรัตน์ , รองศาสตราจารย์ นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ และทีมงาน โดยใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่ล้ำสมัย คือ เครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเครื่อง MRI ขนาด 3 เทสล่า เพื่อศึกษาความแตกต่างระหว่างสมองของเด็กที่ชกมวย (335 คน) เปรียบเทียบกับเด็กทั่วไปจากสถานะการเงินทางบ้านและสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกันแต่ไม่ได้ชกมวย (252 คน) ผลของการวิจัยได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการชกมวยในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีผลต่อสมองของเด็ก ดังนี้
1. มีเลือดออกในสมองจากการถูกชกหัว ทำให้มีธาตุเหล็กสะสมซึ่งเป็นสารพิษต่อเนื้อสมอง
2. เซลสมอง และใยประสาทฉีกขาด และถูกทำลาย ทำให้สมองไม่สามารถสั่งการได้ตามปกติ (เซลสมองสร้างสัญญาณ
ที่เดินทางผ่านใยประสาทเพื่อส่งไปสั่งการส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เปรียบเสมือนกับเครื่องกระจายเสียง)
3. การทำงานของสมองด้านความจำลดลง ซึ่งสามารถนำไปสู่อาการบกพร่องทางปัญญา หรือภาวะสมองเสื่อมได้
4. ระดับสติปัญญา (IQ) ของเด็กที่ชกมวยน้อยกว่าของเด็กทั่วไปเกือบ 10 คะแนน และยังลดลงอย่างต่อเนื่องตาม
ระยะเวลาในการชก โดยระดับไอคิวของเด็กทั่วไปในประเทศไทยอยู่ระหว่าง 90-110 ซึ่งสามารถเรียนจบระดับ
อนุปริญญาหรือปริญญาตรี ส่วนนักมวยเด็กที่ขึ้นชกมากกว่า 5 ปี มีไอคิว 84 คะแนนระหว่าง 80-89 จะสามารถเรียนจบ
ระดับมัธยมปลาย เท่านั้น

ผลการบาดเจ็บของสมองนักมวยเด็กส่งผลต่อการศึกษาและการดำรงชีวิตของเด็กในอนาคต ซึ่งรวมถึงหากเด็กเหล่านี้โตขึ้นไป แล้วไม่ได้เข้าสู่วงการมวย ไม่ได้เป็นนักกีฬามวยระดับชาติ จะกลับเข้าสู่สังคมและใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปอย่างไร เรียนหนังสือหรือหางานทำอย่างไร และประสิทธิภาพในการดำรงชีวิตกับคุณภาพชีวิตกับคุณภาพชีวิตจะเป็นอย่างไรด้วยสมองที่บอบช้ำพร้อมกับระดับสติปัญญาที่ต่ำกว่าเด็กทั่วไป

ปัจจุบันการชกมวยเด็กเป็นลักษณะมวยอาชีพ คือ การได้รับค่าตอบแทน ซึ่งนับเป็นการใช้แรงงานเด็กที่ผิดกฏหมาย อีกทั้ง มีการระบุในระดับสากลโดยกระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกาว่า เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ชกมวย นั้น ถือว่าเป็น “การใช้แรงงานเด็กที่ย่ำแย่ที่สุด” ในส่วนนี้ทำให้ประเทศไทยได้ เทียร์ 3 (Tier 3) ด้านการค้ามนุษย์ แพทย์ นักวิชาการ และเครือข่ายคุ้มครองเด็ก จึงร่วมกันสนับสนุนการแก้ไข พ.รบ. กีฬามวย 2542 ตามเสนอของ พล. อ. อดุลยเดช อินทะพงษ์ และคณะซึ่งเป็นข้อเสนอที่ร่างจากผลวิจัยที่ทำกันมาอย่างยาวนาน และส่งเสริมมวยไทยให้เป็นวัฒนธรรมที่สวยงามเป็นกีฬาสำหรับเด็กทุกวัยอย่างแท้จริง

Recent post