วันที่ 18 ธันวาคม 2561 รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล ให้การต้อนรับสื่อมวลชน เนื่องในโอกาสเข้าเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยมหิดลในโครงการ “Press Tour เยี่ยมชมมหาวิทยาลัยมหิดล ตอกย้ำความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco University)” ณ อาคารใบไม้ 3 ใบ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิล ศาลายา
ในการนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต ได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมโครงการด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มุ่งสู่มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco University) โดยมหาวิทยาลัยมหิดลเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน พ.ศ. 2558 – 2562 โดยมีนโยบายส่งเสริมการสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco University) มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) และดำเนินการตาม 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals-SDGs) ซึ่งรองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร ได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโครงการดังต่อไปนี้
- อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ เป็นอุทยานธรรมชาติเกี่ยวกับสมุนไพร ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางที่สุดในประเทศไทย เป็นที่รวบรวมพันธุ์สมุนไพรที่ปรากฏในตำรายาไว้มากที่สุดกว่า 800 ชนิด ภายในอุทยานยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมายอาทิ นิทรรศการ “สมุนไพร ภูมิปัญญาไทยสู่สากล” ให้ผู้ชมเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากสมุนไพรไทยใกล้ตัว “บ้านหมอยา” คลินิกให้บริการการแพทย์แผนไทย ในบรรยากาศบ้านหมอยาแบบโบราณ ทั้งนี้อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ได้สร้างขึ้นภายใต้แนวคิด “การออกแบบเพื่อมวลชน” (Universal Design) ซึ่งเป็นการออกแบบสิ่งแวดล้อม สถานที่ และสิ่งของเครื่องใช้ ที่อำนวยความสะดวก ให้แก่ผู้สูงอายุ คนพิการ เพื่อให้ผู้ชมทุกกลุ่มสามารถมาเรียนรู้และเยี่ยมชม อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ได้อย่างเท่าเทียมกัน
- โครงการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพ เป็นการนำขยะใบไม้ กิ่งไม้ เศษหญ้า ภายในมหาวิทยาลัยมหิดลกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง ซึ่งการทำปุ๋ยชีวภาพนั้นจะนำไปใช้ในการดูแลบำรุงรักษาสภาพภูมิทัศน์ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และเมื่อเหลือจากการใช้ก็นำมาจำหน่ายให้เกษตรกร หรือบุคคลที่สนใจต่อไป
- โครงการธนาคารขยะรีไซเคิล (Recycle Bank) โครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษา เจ้าหน้าที่ อาจารย์ รวมถึงประชาชน ผู้ประกอบการร้านค้า สามารถมานำขยะรีไซเคิลมาฝากขายได้ที่ อาคารอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยธนาคารขยะรีไซเคิลจะออกสมุดฝากขยะรีไซเคิลเพื่อเปิดเป็นบันชีธนาคารในการนำขยะมาขายให้กับโครงการฯ สร้างรายได้ให้กับสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังช่วยให้ปริมาณขยะในมหาวิทยาลัยลดลงจำนวนมาก
- โครงการบำบัดน้ำเสีย มหาวิทยาลัยมหิดลมีการศึกษา สำรวจ และออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียรวม (Central Treatment) ของมหาวิทยาลัยมหิดลที่สามารถรองรับปริมาณน้ำเสียจากอาคารเดิมรวมถึงอาคารที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตได้ปริมาณ 6,000 ลบ./ม./วัน ในปัจจุบันก่อสร้างและใช้จริงอยู่ที่ปริมาณ 3,000 ลบ./ม./วัน และมีการบริหารจัดการเพื่อบำบัดน้ำเสียให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งประเภท ก. คือ น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วต้องมีค่า BOD ไม่เกิน 20mg/l ก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะต่อไป
- โครงการแปลงผักปลอดสารพิษ โครงการนี้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปสมุนไพรศาลายา ร่วมกับอำเภอพุทธมณฑลและมหาวิทยาลัยมหิดล โดยแนวคิดเบื้องต้นเกิดจากความต้องการที่จะพัฒนาพื้นที่ของมหาวิทยาลัยให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้พื้นที่ 4 ไร่ บริเวณด้านข้างคณะเทคนิคการแพทย์ ดำเนินการโครงการปลูกผักปลอดสารพิษ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2551 เป็นต้นมา
- โครงการพลังงานไบโอดีเซล มหาวิทยาลัยมหิดลได้นำน้ำมันที่ใช้แล้วจากโรงอาหาร กลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง โดยผ่านกระบวนการ ซึ่งใช้ต้นทุนการผลิตเพียง 19 บาทต่อลิตร โดยนำมันไบโอดีเซลที่ได้จะนำมาใช้กับรถบรรรทุกต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล
- โครงการมหิดล Reduce & Reuse ถุงพลาสติก ส่งเสริมให้ประชาคมมหิดลเกิดการลดใช้ถุงพลาสติกและนำถุงพลาสติกที่มีสภาพใหม่กลับมาใช้ซ้ำ อีกทั้งยังส่งเสริมให้บุคลากร นักศึกษา ประชาชน มีความรู้และตระหนักเห็นคุณค่าในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้ขอความร่วมมือจากร้านสะดวกซื้อภายในมหาวิทยาลัยมหิดลงดให้บริการถุงพลาสติกแก่ลูกค้า โดยเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อนำถุงผ้ามาเองหรือบริจาคค่าถุงพลาสติกใหม่ในราคา 2 บาท หรือใช้ถุงพลาสติก reuse ส่งผลให้ยอดการใช้ถุงพลาสติกลดลงถุง 90 เปอร์เซ็น หรือลดการใช้ถุงพลาสติกได้เกือบ 2 ล้านใบต่อปี