เผยผลประชุมวิชาการนานาชาติ AUN-QA International Conference 2018

Mahidol University International College (MUIC) Songkran 2018
April 17, 2018
งาน 2018 The 11th Shanghai New Music
April 18, 2018

เผยผลประชุมวิชาการนานาชาติ AUN-QA International Conference 2018

aun-qa2

มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเกียรติจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network : AUN) ให้เป็นเจ้าภาพจัด ประชุมวิชาการนานาชาติ AUN-QA International Conference 2018 ในหัวข้อ QA in Higher Education for SDGs: Converging Global Aspiration with National Realities” ระหว่างวันที่ 26 – 27 มีนาคม 2561  ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสมาชิกเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน ในการพัฒนาแนวทางการประกันคุณภาพหลักสูตรการศึกษาระดับภูมิภาค และรับทราบทิศทางการศึกษาในอนาคต

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการจัดประชุมที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพหลักสูตรการศึกษา โดยใช้วิธีการของ Asian University Network Quality Assurance เป็นตัวช่วยในการรับรองการประเมินคุณภาพหลักสูตรการศึกษาให้เป็นกติกากลางในระดับภูมิภาค ผู้ประเมินต้องเป็นคนกลางที่มีจากต่างชาติ มีความรู้ ความเข้าใจกรอบคุณภาพต่างๆ สามารถพิจารณาคุณภาพของผู้สอน ระบบการบริหารจัดการขององค์กร และคุณภาพหลักสูตรได้อย่างเป็นมาตรฐาน ผมตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ AUN เริ่มต้นที่ประเทศไทย เหตุใดหลักสูตรในประเทศไทยได้รับการ Certified ค่อนข้างน้อย  จึงทำให้มีความรู้สึกว่าเหตุใดเราใส่ใจเรื่องนี้น้อย มหาวิทยาลัยมหิดลพยายามจะสร้างความตระหนักรู้ ความสำคัญ เผยแพร่ เรียนรู้ เลือกผู้เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ความเข้าใจ เพื่อขับเคลื่อนไปด้วยกัน ไม่ใช่เพียงแต่มหาวิทยาลัยมหิดลอย่างเดียว มหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็จะได้ประโยชน์ด้วย    การประชุมที่ผ่านมานับว่ามหาวิทยาลัยมหิดลประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับงานประกันคุณภาพการศึกษามาเข้าประชุมค่อนข้างมาก สิ่งที่ได้จากการประชุม คือ การสร้างความตระหนักรู้ถึงความจำเป็นของการประเมินหรือพัฒนาคุณภาพการศึกษา นอกจากนี้การจัดประชุมในลักษณะเป็นสมาชิกเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน จึงเป็นโอกาสอันดีที่สมาชิกจากแต่ละประเทศได้มาถ่ายทอด แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รู้จักเพื่อนบ้าน นอกจากนี้เราได้เรียนรู้ประเด็นปัญหาต่างๆ  จากผู้ที่มีประสบการณ์ในระดับภูมิภาค ที่อาจจะมีข้อเหมือนและข้อต่าง ทำให้ได้องค์ความรู้ต่างๆ ที่กว้างและลึกซึ้งขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรสมภพ   ประธานธุรารักษ์   รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล       ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ AUN-QA International Conference 2018 กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจากประชาคมอาเซียน และจากประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 416 ท่าน จาก 17 ประเทศ ถือว่าเป็นการประชุมที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่   ผลจากการประชุม มีการนำเสนอในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพการศึกษาของอาเซียน รวมทั้งทิศทางการประกันคุณภาพการศึกษาจากประชาคมทั่วโลกว่าจะไปในทิศทางใด  ประเด็นที่สำคัญ อาทิ การนำเสนอบทบาทและความสำคัญของการประกันคุณภาพการศึกษาต่อประชาคมโลก โดยผู้แทนจากยูเนสโก ได้กล่าวถึงความสำคัญของ Quality Education หรือการศึกษาที่มีคุณภาพจะสามารถตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาที่มีเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs ) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับทุกชุมชน สังคม และประชาคมทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีมุมมองของ Quality Assurance Agency  โดยมีความเห็นว่า การประกันคุณภาพการศึกษาในยุคต่อไป คงไม่ใช่เรื่องของมหาวิทยาลัย หรือของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่การประกันคุณภาพการศึกษาต้องตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย(stakeholders) ของมหาวิทยาลัย ในที่นี้ คือผู้เรียน นักศึกษา  คณาจารย์ บัณฑิต ผู้จ้างงาน และสังคมที่ต้องการบัณฑิตที่มีคุณสมบัติอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยจะต้องให้ความสำคัญ โดยเน้นที่ ความไว้วางใจ (trust) ความโปร่งใส (transparency) และที่สำคัญคือ ความเป็นอิสระ (independent) ของการประกันคุณภาพการศึกษา ทุกสิ่งทุกอย่างต้องโปร่งใส ตรงไปตรงมา น่าเชื่อถือ ซึ่งจะนำมาสู่ creditability หรือความน่าเชื่อถือของหลักสูตรในมหาวิทยาลัยที่ได้รับการประกันคุณภาพ

สำหรับเจ้าภาพจัดงานเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network : AUN) ปีต่อไป คือ De La Salle University และ University of the Philippines  สาธารณรัฐฟิลิปปินส์

Recent post