มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการรับรองเป็นหน่วยทดสอบ ความปลอดภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพตามหลักการ OECD GLP แห่งแรกในประเทศไทย

การประชุมระดับชาติด้านการอาสาสมัคร ครั้งที่ 3 (The 3rd National Conference on Volunteerism)
January 24, 2018
แถลงข่าว Mobile Application “RDU รู้เรื่องยา”
January 24, 2018

มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการรับรองเป็นหน่วยทดสอบ ความปลอดภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพตามหลักการ OECD GLP แห่งแรกในประเทศไทย

oecd

9 มกราคม 2561 ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล รับมอบประกาศนียบัตร Certificate of Compliance to OECD Principles of GLP สำหรับการทดสอบทางพิษวิทยา (toxicity testing) ซึ่งเป็นการรับรองเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานให้บริการทดสอบความปลอดภัยตามหลักการ OECD GLP (Organisation for Economic Co-operation and Development) แห่งแรกในประเทศไทย โดยมี นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นผู้มอบเกียรติบัตรในครั้งนี้ ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลให้ความสำคัญกับการสร้างนักวิจัยคุณภาพ รวมถึงการลงทุนในด้านโครงสร้างที่ได้รับมาตรฐานคุณภาพระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิต ห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพ ศูนย์ทดสอบยา อาหารในคนและสัตว์ การทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นต้น และส่งเสริมให้นักวิชาการและนักวิจัยสามารถสร้างนวัตกรรมตอบสนองความต้องการภาคอุตสาหกรรมได้จริง สามารถกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดการสร้างโอกาสทางการแข่งขัน

ในโอกาสที่ ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานให้บริการทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพตามหลักการ OECD GLP (Certificate of Compliance to OECD Principles of GLP) แห่งแรกของประเทศไทย ในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการขยายพันธกิจของศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติจากการผลิตสัตว์ทดลองที่มีคุณภาพสำหรับนักวิชาการและนักวิจัยในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้พัฒนาต่อยอดให้มีห้องปฏิบัติการเพื่อการทดสอบความเป็นพิษของยา ยาสัตว์ food additives และ feed additives ตามหลัก OECD GLP ซึ่งเป็นการเติมเต็มห่วงโซ่การพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศให้สมบูรณ์ เป็นประโยชน์ในการค้นคว้าวิจัยสำหรับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา จนได้รับการรับรองเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานให้บริการทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลดีต่อประเทศไทยในการที่มีหน่วยงานตามเงื่อนไขที่จะได้รับการยอมรับของประเทศภาคีสมาชิกแบบสมบูรณ์ฯ ส่งผลให้ได้รับความช่วยเหลือทางด้านวิชาการจาก OECD อีกทั้งได้รับการยอมรับข้อมูลการประเมินความปลอดภัยโดยไม่ต้องตรวจสอบซ้ำ เป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้ารวมทั้งศักยภาพทางการแข่งขันให้แก่ประเทศ

ทั้งนี้ ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มีขอบข่ายในการให้บริการทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ 4 ด้าน คือ

1. ยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ (Pharmaceutical)

2. ยาและเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ (Veterinary drug)

3. อาหารเสริมสำหรับมนุษย์ (Food additive)

4. อาหารเสริมสำหรับสัตว์ (Feed additive)

นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2561 ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล มีแผนขยายขอบข่ายในการให้บริการทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพให้ครอบคลุมกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง (Cosmetic) ต่อไป และถือเป็นหน่วยงานหลักของประเทศในการคุ้มครองผู้บริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยผ่านทางกระบวนการทดสอบความปลอดภัยที่มีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือในระดับนานาชาติ

Recent post