ม.มหิดล แถลงข่าว “วัคซีนไข้เลือดออก…ในมุมมองผู้ร่วมวิจัยวัคซีนฯ”

มหาวิทยาลัยมหิดลต้อนรับผู้แทนจาก Elsevier
January 10, 2018
ศิริราชประกาศผลสำเร็จรักษามะเร็งเต้านมเทียบเท่ามาตรฐานโลก
January 10, 2018

ม.มหิดล แถลงข่าว “วัคซีนไข้เลือดออก…ในมุมมองผู้ร่วมวิจัยวัคซีนฯ”

Dengvaxia02

วันที่ 19 มกราคม 2560 คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าว “วัคซีนไข้เลือดออก…ในมุมมองผู้ร่วมวิจัยวัคซีนฯ” โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงอรุณี ทรัพย์เจริญ หัวหน้าโครงการวิจัยวัคซีนไข้เลือดออก และที่ปรึกษาคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ นายแพทย์พลรัตน์ วิไลรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน และรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชูเกียรติ ศิริวิชยกุล ผู้ร่วมโครงการวิจัยวัคซีนไข้เลือดออกและหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องประชุมประตาป สิงหศิวานนท์ ชั้น 17 อาคารราชนครินทร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มให้บริการฉีดวัคซีนไข้เลือดออกเด็งกี่ (Dengvaxia) แก่ประชาชน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 พร้อมทั้งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาไข้เลือดออกเด็งกี ซึ่งโรคดังกล่าวเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ 4 สายพันธุ์ โดยมียุงลายเป็นพาหะ ในขณะนี้มีการระบาดของไข้เลือดออกเด็งกี่ทั่วประเทศ ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ทุกอายุทั้งหญิงและชาย พบมากที่สุด ที่อายุ 10 – 14 ปี การแพร่ระบาดของโรคยังมีอยู่ตลอดเวลา ในระยะหลังพบว่ามีจำนวนคนไข้จำนวนมากปีเว้นปี หรือปีเว้นสองปี ในปี 2558 มีการระบาดของโรคมาก พบผู้ป่วยถึง 144,672 ราย และในปี 2559 พบผู้ป่วย 63,310 ราย เสียชีวิต 57 และ 141 ราย ตามลำดับ ทั้งนี้เป็นตัวเลขที่กระทรวงสาธารณสุขได้รับรายงานเท่านั้น ตัวเลขจริงอาจมีผู้ป่วยมากกว่านั้นถึง 15 เท่า ผู้ป่วยเด็กต้องต้องขาดเรียนถึง 4-6 วัน ผู้ป่วยผู้ใหญ่ต้องลางานถึง 7-10 วัน กระทบต่อสภาพสังคม เศรษฐกิจ เสียค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขเป็นจำนวนมาก

สำหรับประเทศไทยพบไข้เลือดออกเด็งกี่ครั้งแรกในปี 2501 การติดเชื้อทำให้เกิดกลุ่มโรคต่างๆกัน เช่น 1.ติดเชื้อไม่มีอาการ 2.ไข้อาการน้อยบอกสาเหตุไม่ได้ 50% 3.ไข้เด็งกี่ 39% 4.ไข้เลือดออกเด็งกี่ 11% และในจำนวน 11% นี้ มี 2% ที่อาการหนักมากอาจเสียชีวิตได้ การควบคุมโรคด้วยวิธีการควบคุมยุงพาหะนั้นไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร วัคซีนไข้เลือดออก Dengvaxia จึงเป็นวัคซีนแรกของโลก และชนิดเดียวที่มีอยู่ขณะนี้ ที่ครอบคลุมไวรัสเด็งกี่ 4 สายพันธุ์ ซึ่งวัคซีนดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว ใน 13 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อ วันที่ 30 กันยายน 2559 โดยสามารถฉีดได้ในกลุ่มอายุ 9-45 ปี ทั้งหมด 3 เข็ม เว้นระยะ 6 เดือนในการฉีดแต่ละครั้ง ค่าใช้จ่ายประมาณ 3,000 บาท/เข็ม ในกรณีกลุ่มที่วางแผนว่าจะตั้งครรภ์ควรคุมกำเนิดอย่างน้อย 1 เดือนก่อนฉีดวัคซีนเข็มแรก และ 1 เดือนหลังฉีดเข็มสุดท้ายโดยที่วัคซีนนี้มีความปลอดภัยสูงมาก สามารถควบคุมการเกิดไข้เลือดออกได้ร้อยละ 65 ลดการนอนโรงพยาบาลได้ร้อยละ 80 และป้องกันการแทรกซ้อนของโรคต่างๆ ได้ร้อยละ 73 ผลการศึกษาวิจัยเบื้องต้น พบว่าสามารถควบคุมโรคไข้เลือดออกได้ในระยะเวลา 5-6 ปี ส่วนหลังจากนั้นจะต้องมีการติดตามว่า การฉีดกระตุ้นมีความจำเป็นหรือไม่อย่างไร ขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการศึกษา หลังจากมีการใช้วัคซีนนี้แล้วจะได้มีการประเมินความคุ้มค่าของวัคซีนเป็นระยะๆ โดยวัคซีนไข้เลือดออกนี้เป็นของบริษัทต่างประเทศ มีการขึ้นทะเบียนกับ อย. แล้วถือว่าเป็นยาทั่วๆ ไปที่ทุกโรงพยาบาลจะสามารถซื้อไปเพื่อใช้ป้องกันโรคได้

Recent post