วันที่ 19 มกราคม 2560 คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าว “วัคซีนไข้เลือดออก…ในมุมมองผู้ร่วมวิจัยวัคซีนฯ” โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงอรุณี ทรัพย์เจริญ หัวหน้าโครงการวิจัยวัคซีนไข้เลือดออก และที่ปรึกษาคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ นายแพทย์พลรัตน์ วิไลรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน และรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชูเกียรติ ศิริวิชยกุล ผู้ร่วมโครงการวิจัยวัคซีนไข้เลือดออกและหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องประชุมประตาป สิงหศิวานนท์ ชั้น 17 อาคารราชนครินทร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มให้บริการฉีดวัคซีนไข้เลือดออกเด็งกี่ (Dengvaxia) แก่ประชาชน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 พร้อมทั้งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาไข้เลือดออกเด็งกี ซึ่งโรคดังกล่าวเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ 4 สายพันธุ์ โดยมียุงลายเป็นพาหะ ในขณะนี้มีการระบาดของไข้เลือดออกเด็งกี่ทั่วประเทศ ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ทุกอายุทั้งหญิงและชาย พบมากที่สุด ที่อายุ 10 – 14 ปี การแพร่ระบาดของโรคยังมีอยู่ตลอดเวลา ในระยะหลังพบว่ามีจำนวนคนไข้จำนวนมากปีเว้นปี หรือปีเว้นสองปี ในปี 2558 มีการระบาดของโรคมาก พบผู้ป่วยถึง 144,672 ราย และในปี 2559 พบผู้ป่วย 63,310 ราย เสียชีวิต 57 และ 141 ราย ตามลำดับ ทั้งนี้เป็นตัวเลขที่กระทรวงสาธารณสุขได้รับรายงานเท่านั้น ตัวเลขจริงอาจมีผู้ป่วยมากกว่านั้นถึง 15 เท่า ผู้ป่วยเด็กต้องต้องขาดเรียนถึง 4-6 วัน ผู้ป่วยผู้ใหญ่ต้องลางานถึง 7-10 วัน กระทบต่อสภาพสังคม เศรษฐกิจ เสียค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขเป็นจำนวนมาก
สำหรับประเทศไทยพบไข้เลือดออกเด็งกี่ครั้งแรกในปี 2501 การติดเชื้อทำให้เกิดกลุ่มโรคต่างๆกัน เช่น 1.ติดเชื้อไม่มีอาการ 2.ไข้อาการน้อยบอกสาเหตุไม่ได้ 50% 3.ไข้เด็งกี่ 39% 4.ไข้เลือดออกเด็งกี่ 11% และในจำนวน 11% นี้ มี 2% ที่อาการหนักมากอาจเสียชีวิตได้ การควบคุมโรคด้วยวิธีการควบคุมยุงพาหะนั้นไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร วัคซีนไข้เลือดออก Dengvaxia จึงเป็นวัคซีนแรกของโลก และชนิดเดียวที่มีอยู่ขณะนี้ ที่ครอบคลุมไวรัสเด็งกี่ 4 สายพันธุ์ ซึ่งวัคซีนดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว ใน 13 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อ วันที่ 30 กันยายน 2559 โดยสามารถฉีดได้ในกลุ่มอายุ 9-45 ปี ทั้งหมด 3 เข็ม เว้นระยะ 6 เดือนในการฉีดแต่ละครั้ง ค่าใช้จ่ายประมาณ 3,000 บาท/เข็ม ในกรณีกลุ่มที่วางแผนว่าจะตั้งครรภ์ควรคุมกำเนิดอย่างน้อย 1 เดือนก่อนฉีดวัคซีนเข็มแรก และ 1 เดือนหลังฉีดเข็มสุดท้ายโดยที่วัคซีนนี้มีความปลอดภัยสูงมาก สามารถควบคุมการเกิดไข้เลือดออกได้ร้อยละ 65 ลดการนอนโรงพยาบาลได้ร้อยละ 80 และป้องกันการแทรกซ้อนของโรคต่างๆ ได้ร้อยละ 73 ผลการศึกษาวิจัยเบื้องต้น พบว่าสามารถควบคุมโรคไข้เลือดออกได้ในระยะเวลา 5-6 ปี ส่วนหลังจากนั้นจะต้องมีการติดตามว่า การฉีดกระตุ้นมีความจำเป็นหรือไม่อย่างไร ขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการศึกษา หลังจากมีการใช้วัคซีนนี้แล้วจะได้มีการประเมินความคุ้มค่าของวัคซีนเป็นระยะๆ โดยวัคซีนไข้เลือดออกนี้เป็นของบริษัทต่างประเทศ มีการขึ้นทะเบียนกับ อย. แล้วถือว่าเป็นยาทั่วๆ ไปที่ทุกโรงพยาบาลจะสามารถซื้อไปเพื่อใช้ป้องกันโรคได้