มหิดล ยกระดับจิตใจเด็กปฐมวัย เน้นหลักสูตรตามแนวทาง “สมเด็จย่าฯ”

มหิดลอินเตอร์จัดปฐมนิเทศนศ.ต่างชาติพร้อมพาชมสยามนิรมิต
April 24, 2018
พิธีเปิดงาน “กยศ.รวมใจ ปันโลหิต ต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ ปีที่ 5”
April 24, 2018

มหิดล ยกระดับจิตใจเด็กปฐมวัย เน้นหลักสูตรตามแนวทาง “สมเด็จย่าฯ”

002

ด้วยความร่วมมือระหว่าง สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กับ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง “หลักสูตรพัฒนาเด็กปฐมวัยตามแนวพระราชดำริสมเด็จย่า” ถูกพัฒนาขึ้นจากแรงบันดาลใจที่ได้เห็น การเป็นแบบอย่างที่ดีในการเลี้ยงดูพระราชบุตร พระราชธิดา ให้เพียบพร้อมด้วยความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีคุณสมบัติทางจิตใจทั้ง 10 ประการ (ความหนักแน่น/การให้/ความอดทนอดกลั้น/การทำความดี/ความซื่อตรง/ความอ่อนโยน/ความเพียร/ความไม่โกรธ/การไม่เบียดเบียน/การละวาง) ดังจะเห็นได้จากพระราชจริยวัตรอันงดงามที่ถ่ายทอดมายังในหลวงรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9

ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย ม.มหิดล กล่าวว่า หลักสูตรปฐมวัยตามแนวทางสมเด็จย่าถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของ 5 ทฤษฎี ได้แก่ Neo-Humanist,จิตวิทยาเชิงบวก,พัฒนาการมนุษย์,พัฒนาการสมอง และทฤษฎีการเรียนรู้ โดยเด็กในช่วงอายุ 0-6 ปีแรก (ปฐมวัย) ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญอย่างยิ่ง ที่ต้องได้รับการพัฒนายกระดับในเรื่องของจิตใจ ซึ่งหลักสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาในด้านของจิตใจคือ ความไว้ใจและความผูกพัน ซึ่งสองสิ่งนี้ เด็กจะสัมผัสได้จากคุณครู ครอบครัวและคนรอบข้าง เมื่อใดที่เด็กเกิดความผูกพัน และไว้ใจขึ้น เด็กจะรู้สึกมีตัวตน และกล้าที่จะแสดงความรู้สึกนึกคิด ของตนเองออกมา ซึ่งความรู้สึกมีตัวตนนี้ (Sense of Self) ถือเป็นพื้นฐานของความมั่นคงทางจิตใจ ที่จะทำให้เด็กพร้อมที่จะเรียนรู้จักเคารพความรู้สึกของตนเอง และของผู้อื่น กระบวนการเรียนรู้สำคัญที่จะทำให้เกิดคุณสมบัติทางจิตใจทั้ง 10 ประการ คือ การเรียนรู้ผ่านความรู้สึก หรือ  Learning by Feeling” โดยครูจะใช้เทคนิคการสร้างวินัยในเชิงบวก และกระบวนการสอนที่ทำให้คุณสมบัติทางจิตใจทั้ง 10 ประการเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม กล่าวคือเด็กๆสามารถรับรู้ถึงคุณสมบัติทางจิตใจนั้น และทำความเข้าใจได้ ทักษะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือตนเอง กฎระเบียบ หรือความรู้ทางวิชาการทั้งหลาย จะถูกสอดแทรกอยู่ในกิจกรรม เพื่อใช้เป็นสื่อในการช่วยฝึกทักษะสมอง EF (Executive Functions) ให้เกิดการคิด ความรู้สึก และแสดงออกมาผ่านการกระทำตามคุณสมบัติทางจิตใจทั้ง 10 ประการ ดังนั้น การพัฒนาทักษะทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ ด้านตัวตน ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์-จิตใจ ด้านสังคม ด้านสติปัญญา และด้านทักษะสมอง EF อย่างเต็มที่ จะส่งเสริมให้เด็กๆ เติบโตขึ้นอย่างสมบูรณ์แข็งแรงและมีความเชื่อมั่นและรู้จักคุณค่าในตนเอง และผู้อื่น ซึ่งสำคัญต่อการใช้ชีวิตในวัยผู้ใหญ่ต่อไป

 “ถ้าเรามีโอกาสสร้างลูกในวันนี้ ควรจะสร้างตัวตนของเขาให้เขารู้สึกมีตัวตน รู้จักตัวเอง และมีการตัดสินใจที่ดี ถ้าพ่อแม่ให้โอกาสให้ลูกได้ลองตัดสินใจ และอยู่เคียงข้างลูกเมื่อตัดสินใจผิด และดีใจกับลูกเมื่อตัดสินใจถูก ก็จะทำให้ลูกเห็นคุณค่าในตัวเอง และพร้อมที่จะให้คุณค่าผู้อื่นเช่นเดียวกัน” ผศ.ดร.ปนัดดา กล่าวทิ้งท้าย

Recent post