3 หลักสูตรของมหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพ ASEAN University Network Quality Assurance: AUN-QA

พิธีมอบเข็มราชสกุลมหิดลและเกียรติบัตร แก่ผู้เกษียณอายุฯ ประจำปี 2561
September 27, 2018
มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นที่ 1 ของประเทศไทย จากการจัดอันดับของ Times Higher Education World University Rankings 2019
September 27, 2018

3 หลักสูตรของมหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพ ASEAN University Network Quality Assurance: AUN-QA

AUN_3

วันที่  27 กันยายน 2561

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. ภก. สมภพ ประธานธุรารักษ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีรับมอบเกียรติบัตรรับรองมาตรฐานตามเกณฑ์ ASEAN University Network Quality Assurance: AUN-QA ระดับหลักสูตร จำนวน 3 หลักสูตร ณ ห้องประชุม 910 อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รองศาสตราจารย์ ดร.นันทนา คชเสนี รักษาการประธานคณะกรรมการ AUN-QA สำนักงานเลขานุการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน เป็นประธานมอบเกียรติบัตรรับรองมาตรฐานฯ ได้แก่

1. หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ชีวเคมี) คณะวิทยาศาสตร์ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.จงกลณี วัฒนาเพิ่มพูล รองคณบดีฝ่ายแพทยศาสตร์และบัณฑิตศึกษา และ รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ หยกทองวัฒนา ประธานหลักสูตรปริญญาเอก คณะวิทยาศาสตร์ เข้ารับมอบ
2. หลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ รองคณบดีฝ่ายการศึกษาก่อนปริญญา และรองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประวิทย์ อัครเสรีนนท์ หัวหน้าสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ รับมอบ
3. หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (การจัดการบริการนานาชาติ) วิทยาลัยนานาชาติ โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์พิทยา จารุพูนผล คณบดีวิทยาลัยนานาชาติและ ดร.โรเบอโต ก๊อซโซลี ประธานหลักสูตร รับมอบ

ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนแบบ Outcome Based Education (OBE) รองรับการเปิดเสรีด้านการศึกษา เพื่อให้บัณฑิตมีศักยภาพตามความต้องการของสังคมอนาคต มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ประเทศต้องการ สามารถสร้างงานได้ด้วยตนเองและแข่งขันระดับโลกได้ ซึ่งนอกจากการจัดการเรียนการสอนแล้ว การวัดและประเมินผลทางการศึกษา (Expected Learning Outcomes) เป็นสิ่งสำคัญที่จะเสริมสร้างประสิทธิภาพของผู้เรียน ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลได้นำเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาเข้ามาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างมาตรฐานและเสริมสร้างคุณภาพการศึกษาของหลักสูตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการประกันคุณภาพการศึกษาระดับในอาเซียน (AUN Quality Assurance – AUN-QA) ที่ตระหนักถึงความสำคัญของประกันคุณภาพการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและความจำเป็นในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพแบบองค์รวมเพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษา การวิจัยและการบริการ ให้แก่มหาวิทยาลัยในเครือข่าย AUN

ผลจากการได้รับการรับรองมาตรฐานครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของมหาวิทยาลัยมหิดลที่พร้อมจะก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในระดับนานาชาติที่ได้รับการยอมรับและน่าเชื่อถือ เสริมสร้างขีดความสามารถของสถานศึกษาในการแข่งขันระดับสากลเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก

องศาสตราจารย์ ดร. ภก. สมภพ ประธานธุรารักษ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทั้งการประกันคุณภาพภายใน (Internal Quality Assurance: IQA) ได้แก่ การประกันคุณภาพการศึกษาระดับสถาบันและระดับคณะ (EdPEx) การประกันคุณภาพการศึกษาระดับหลักสูตร MU AUN-QA และการประกันคุณภาพภายนอก (External Quality Assurance: EQA) โดย สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยมหิดลก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก (World Class University) อย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดลได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network – AUN)และเข้าร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ของ AUN ซึ่งหนึ่งในกิจกรรม คือ ระบบประกันคุณภาพการศึกษาในอาเซียน (AUN Quality Assurance – AUN-QA) เพื่อให้เป็นกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาและสร้างมาตรฐานการอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยสมาชิกให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การรับรองมาตรฐานระดับหลักสูตรจะเริ่มต้นจากความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และนำมากำหนดไว้ในผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดว่าจะได้รับ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักสูตร โดยมีเกณฑ์พิจารณา 11 หมวด ได้แก่
1. ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังไว้
2. ข้อกำหนดหลักสูตร
3. โครงสร้างหลักสูตรและเนื้อหา
4. แนวทางการสอนและการเรียนรู้
5. การประเมินผลนักศึกษา
6. คุณภาพบุคลากรสายวิชาการ
7. คุณภาพบุคลากรสายสนับสนุน
8. คุณภาพของนักศึกษาและการสนับสนุน
9. สิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐาน
10. การเพิ่มคุณภาพ
11. ผลผลิต
มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการนำเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้ในการประกันคุณภาพการศึกษาระดับหลักสูตร (MU AUN-QA Assessment) โดยหลักสูตรที่มีความพร้อม มหาวิทยาลัยจะยื่นขอรับรองโดย AUN-QA ต่อไป

การที่หลักสูตรของมหาวิทยาลัยมหิดลทั้ง 3 หลักสูตรได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพระดับหลักสูตรตามเกณฑ์ ASEAN University Network Quality Assurance: AUN-QA ในครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยมีเป้าหมายต่อไปใน 5 ปีข้างหน้าที่จะมีหลักสูตรผ่านการรับรองในระดับนานาชาติเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15 ของหลักสูตรทั้งหมด หรือประมาณ 54 หลักสูตรภายในปี 2564 ต่อไป
ทั้งนี้ ในรอบการประเมินของ AUN-QA เมื่อวันที่ 25 – 27 กันยายน 2561 มีการตรวจประเมินอีก 4 หลักสูตรของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะกายภาพบำบัด และจะมีการระเมินในรอบปี 2562 อีก 8 หลักสูตร

Recent post