คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดสัมมนาแนวทางการพัฒนาเขตเกษตรและอาหารปลอดภัยในพื้นที่ 8 จังหวัด ภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันตก

งานแถลงข่าวจัดงาน Thailand Robotics Week 2017 และการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ RoboCup Asia-Pacific 2017
December 20, 2017
การประชุมวิชาการนานาชาติเวชศาสตร์เขตร้อน ประจำปี 2560 (Joint International Tropical Medicine Meeting 2017)
December 20, 2017

คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดสัมมนาแนวทางการพัฒนาเขตเกษตรและอาหารปลอดภัยในพื้นที่ 8 จังหวัด ภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันตก

technic6

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2560 ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานกล่าวเปิดสัมมนาแนวทางการพัฒนาเขตเกษตรและอาหารปลอดภัยในพื้นที่ 8 จังหวัด ภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันตก เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 และ 2 และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีวิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจัดขึ้นภายใต้โครงการ : การตรวจรับรองเกษตรและอาหารปลอดภัยจากสารตกค้างยาฆ่าแมลงในกลุ่มภาคกลาง ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ ดร.วีระพงศ์ ปรัชชญาสิทธิกุล ชั้น 2 อาคารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ร่วมสัมมนาโดย นายมีชีย วีระไวทยะ (ประธานกรรมการบริษัทประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด) นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 เกษตรจังหวัดนครปฐม ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี กรรมการผู้จัดการบริษัทประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองใหม่ และผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ กล่าวว่า จากผลงานในปีที่ผ่านมา คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินการสำรวจสถานการณ์ปริมาณสารตกค้างยาฆ่าแมลงในผักและผลไม้ที่จำหน่ายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ รวมถึงตลาดระดับต่างๆ ในหลายจังหวัด โดยใช้วิธีการตรวจวิเคราะห์ด้วยเทคนิคที่มีความไวและความจำเพาะสูง ผลจากตรวจวิเคราะห์ มีข้อบ่งชี้ว่า “ผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิด มีสารตกค้างในสัดส่วนที่สูงแลมีค่าอยู่ในระดับที่เกินมาตรฐานความปลอดภัย” และด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้กลุ่มจังหวัดภาคกลางต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายการผลิตเกษตรและอาหารปลอดภัย และผลักดันเสนอพิจารณาให้เป็นวาระแห่งชาติอันนำไปสู่ 1) แนวนโยบายการขับเคลื่อนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในด้านการส่งต่อเกษตรและอาหารปลอดภัยเข้าสู่โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ 2) การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาภาคการผลิต และบริการเสริมสร้างฐานการผลิตให้เข้มแข็งและยั่งยืน ส่งสเริมให้เกษตรรายย่อยสู่เกษตรยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่การขยายศักยภาพเพื่อสร้างนวัตกรรมรายได้ Thailand 4.0 3) ยุทธศาสตร์การพัฒนาการจัดการห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ในสินค้าเษตร อาหารปลอดภัยในระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคกลาง ภายใต้แนวทางการเพิ่มศักยภาพภาคเกษตร ตั้่งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง โดยขยายผลแนวทางการขับเคลื่อนวิถีเกษตรและอาหารปลอดภัย ผ่านหน่วยงานต่างๆ ร่วมกับประชารัฐในพื้นที่ 8 จังหวัด โดยมีจุดเริ่มต้นในการใช้ “นครปฐม” เป็นโมเดลต้นแบบจังหวัดเกษตรและอาหารปลอดภัยในโรงพยาบาลและการส่งเสริมสุขภาพดีสำหรับประชาชน ตั้งแต่การพัฒนาศักยภาพการผลิตด้านเกษตรในพื้นที่ที่ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ผู้ป่วยในโรงพยาบาล ผู้บริโภคทั่วไปและนักท่องเที่ยว เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอาชีพที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งได้ดำเนินการมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว มีสัมฤทธิผลที่ดีเป็นที่น่าพอใจ

คาดว่าการจัดสัมมนาครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการประสานพลังความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทำให้ผลการดำเนินการจัดโครงการพัฒนาเกษตรปลอดภัย ดำเนินงานโดยคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประสบความสำเร็จ และสามารถนำผลลัพธ์จากการดำเนินการมาสานต่อ และต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดและผู้บริโภคในระดับประเทศต่อไป และนอกเหนือจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการสนับสนุนช่วยเหลือในการดำเนินการโครงการพัฒนาเกษตรปลอดภัยให้บรรลุตามจุดมุ่งหมายของโครงการต่อไป

Recent post