อาจารย์ ดร.ธารา เฉลิมทรงศักดิ์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กับความภาคภูมิใจในฐานะคนไทยที่มีส่วนร่วมกับความสำเร็จของ “ไลโก้” คว้ารางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ 2017

ประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานโครงการกับ USAID COMET
December 7, 2017
มหาวิทยาลัยมหิดล ขอแสดงความยินดีกับ ศาสตราจารย์คลินิก นายเเพทย์อุดม คชินทร
December 7, 2017

อาจารย์ ดร.ธารา เฉลิมทรงศักดิ์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กับความภาคภูมิใจในฐานะคนไทยที่มีส่วนร่วมกับความสำเร็จของ “ไลโก้” คว้ารางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ 2017

ligo4

ในการประกาศรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ 2017 เมื่อเร็วๆ นี้ ปรากฎว่าผลงานที่ได้รับรางวัลคือ “ไลโก้” (LIGO) ซึ่งเป็นเครื่องตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วง หรือชื่อเต็มว่า “Laser Interferometer Gravitational-wave Observatory” ที่นำโดยนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน 3 ท่านที่ร่วมกันเริ่มโครงการไลโก้ ได้แก่ Rainer Weiss จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT), Barry C. Barish และ Kip S. Thorne จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย หรือ CalTech ร่วมกับนักวิจัยอีกกว่า 1,000 คนจาก 20 ประเทศทั่วโลก โดย อาจารย์ ดร.ธารา เฉลิมทรงศักดิ์ หัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาฟิสิกส์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้พัฒนาชิ้นส่วนภายในเครื่องอินเตอร์เฟอโรมิเตอร์ รุ่นที่ 3 ซึ่งใช้ตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงดังกล่าว เป็นหนึ่งในชาวไทยที่มีส่วนร่วมกับความสำเร็จของไลโก้ในครั้งนี้ด้วย ถือเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล และประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง

นับตั้งแต่เมื่อ 100 ปีก่อนที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวเยอรมัน เคยทำนายเกี่ยวกับคลื่นความโน้มถ่วงบนพื้นฐานทฤษฎีสัมพันธภาพว่า เกิดจากการชนปะทะของหลุมดำ 2 หลุม นับเป็นการจุดประกายให้เกิดการปฏิวัติวงการดาราศาสตร์ฟิสิกส์ โครงการไลโก้ ได้เปิดประตูสู่ความลึกลับของจักรวาล ที่ไม่เคยมีใครล่วงรู้ จากที่นักวิจัยทีมไลโก้ได้เริ่มสังเกตคลื่นความโน้มถ่วงตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2015 ก่อนที่จะประกาศการตรวจพบเป็นครั้งแรกในช่วงต้นปี 2016 จากหอสังเกตการณ์ไลโก้ ซึ่งสร้างความตื่นเต้นทั้งในแวดวงนักวิทยาศาสตร์ และแก่ประชาชนทั่วไป

อาจารย์ ดร.ธารา เฉลิมทรงศักดิ์ อธิบายว่า “ไลโก้” เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจจับคลื่นโน้มถ่วงหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในจักรวาลของเรา เราอาจจะคุ้นชินกับกล้องดูดาวที่ใช้ดูวัตถุต่างๆ บนท้องฟ้า อย่างเช่นถ้าเราต้องการดูดาวศุกร์ เราก็หันกล้องดูดาวไปทางดาวศุกร์ แต่ไลโก้เปรียบเสมือนหูของเรา ที่เราไม่จำเป็นต้องชี้ไปทางไหนเพื่อรับสัญญาณ ไลโก้จะอยู่นิ่งๆ แล้วสัญญาณจะวิ่งเข้ามา เราก็จะรู้ว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นในจักรวาลของเรา แต่สัญญาณจากคลื่นโน้มถ่วง ไม่ใช่สัญญาณที่มาจากแสงอย่างที่เราคุ้นชินกัน คลื่นโน้มถ่วงอาจจะเกิดขึ้นจากวัตถุที่มีมวลมากๆ เช่น หลุมดำสองอัน โคจรรอบกันและกัน

ในฐานะอาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ อาจารย์ ดร.ธารา เฉลิมทรงศักดิ์ ได้พูดถึงความสำคัญของการเรียนวิทยาศาสตร์ว่า “เรามีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่เป็นความรู้ที่มนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนสั่งสมขึ้นมา เป็นกระบวนการหาความรู้ กระบวนการหาข้อเท็จจริงที่เราต้องการ ถ้าเราต้องการนวัตกรรมใหม่ๆ ทางที่จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล คือการใช้วิทยาศาสตร์ ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เราต้องมีความรู้พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ ไม่เช่นนั้นเราก็ยังวนในอ่างเหมือนเดิม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทำให้เราพัฒนาทางเทคโนโลยีได้ ประเทศไหนที่ครองเทคโนโลยี เศรษฐกิจประเทศนั้นก็จะแข็งแกร่งตามไปด้วย อย่างประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีความโดดเด่นทางด้านเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่นก็มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอด ถ้าเราคิดเหมือนเขาไม่ได้ เราก็คงต้องซื้อเขาไปตลอด เศรษฐกิจเราก็คงยังไม่สามารถแข่งกับเขาได้”

“แน่นอนว่าวิทยาศาสตร์สำคัญมากๆ แต่ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องเรียนคณะวิทยาศาสตร์ เราควรจะเลือกคณะที่เราชอบ อยากเป็นหมอก็เรียนหมอ อยากเป็นวิศวกรก็เรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่ไม่ว่าจะอาชีพอะไร เราก็ต้องสร้างนวัตกรรม สร้างเทคโนโลยี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสร้างขึ้นมาได้ ต้องมีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ การเรียนวิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นจะต้องเรียนในห้องเรียนก็ได้ เดี๋ยวนี้ความรู้มีอยู่ทั่วไป เราสามารถเปิดอินเตอร์เน็ต หรือหาซื้อหนังสือมาอ่านศึกษาได้เอง โอกาสเรียนรู้มีอยู่มากมาย ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นอาชีพอะไรก็ตาม เราสามารถพัฒนาอุปกรณ์ พัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาเทคนิคที่เราใช้ในวิชาชีพเราให้ดียิ่งขึ้น ถ้าเรามีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดี เมื่อเรามีความรู้มากพอ เราก็จะสามารถ tackle กับปัญหายากๆ ได้” อาจารย์ ดร.ธารา เฉลิมทรงศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

รางวัลโนเบล เป็นรางวัลประจำปีระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นความตั้งใจของ “อัลเฟรด โนเบล” นักเคมีชาวสวีเดน ผู้คิดค้นระเบิดไดนาไมต์ เนื่องจากเขารู้สึกเสียใจจากการที่ระเบิดของเขาถูกนำไปใช้ในการทำลายและฆ่าผู้คน เขาจึงตั้งใจมอบร้อยละ 94 ของทรัพย์สินมาให้เป็นเงินทุนในรางวัลโนเบล

สำหรับรางวัลโนเบลแบ่งออกเป็น 5 สาขา ได้แก่ เคมี การแพทย์ วรรณกรรม สันติภาพ รวมไปถึงฟิสิกส์ ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการสแกนดิเนเวีย เป็นผู้พิจารณาผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ที่โดดเด่น หรือสร้างคุณประโยชน์ให้กับมนุษยชาติ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม ตามความตั้งใจของอัลเฟรด โนเบล โดยก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.1895 แต่การมอบรางวัลในสาขาฟิสิกส์ สาขาเคมี สาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ สาขาวรรณกรรม และสาขาสันติภาพ เริ่มมอบรางวัลครั้งแรกในปี ค.ศ. 1901

การประกาศรางวัลโนเบลจัดขึ้นในเดือนตุลาคม ส่วนการมอบรางวัลโนเบลจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันที่ 10 ธันวาคม โดยผู้พระราชทานรางวัลคือ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรสวีเดน สำหรับ Rainer Weiss, Barry C. Barish และ Kip S. Thorne ได้รับเหรียญรางวัลโนเบล ใบประกาศเกียรติคุณ และเงินรางวัลร่วมกันจำนวน 9 ล้านโครเนอร์สวีเดน หรือราว 36 ล้านบาท

Recent post