ม.มหิดล ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก 2 ชนิดเสริมสร้างต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติให้กับประเทศไทย เพื่อการศึกษาต่อยอดในอนาคต

พิธีเปิดการแข่งขันการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ACM-ICPC ระดับเอเซีย ประจำปี 2560
December 22, 2017
พิธีทำบุญตักบาตรเนื่องในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2561
December 28, 2017

ม.มหิดล ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก 2 ชนิดเสริมสร้างต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติให้กับประเทศไทย เพื่อการศึกษาต่อยอดในอนาคต

Exif_JPEG_PICTURE

ผศ.ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษาพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย หรือ Flora of Thailand อย่างต่อเนื่อง ร่วมกับ Dr. Ching-I Peng และ Mr. Che-Wei Lin แห่ง Academia Sinica ประเทศไต้หวัน โดยเน้นการศึกษาพืชวงศ์ส้มกุ้ง หรือ ชื่อทางการค้าเรียกว่า เบโกเนีย (Begonia) จากการศึกษาอย่างต่อเนื่องได้ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก คือ ดาดดารารัศมี (Begonia fulgurata) ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Blumea ซึ่งเป็นวารสารชั้นนำทางด้านพฤกษศาสตร์ระดับนานาชาติ ทีมวิจัยสำรวจพบในป่าดิบเขา ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร ขึ้นไป ดาดดารารัศมี เป็นพันธุ์ไม้ที่มีใบสวยงามที่สุดชนิดหนึ่งในบรรดาพรรณไม้ในกลุ่มเดียวกัน ลายของเส้น ใบสวยงามเหมือนใยแมงมุมแต่งแต้มด้วยลวดลายของเส้นใบ และเป็นที่สะดุดตาเหมือนอัญมณีแห่งพงไพร และยังเป็นพันธุ์ไม้ที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดทางสิ่งแวดล้อมได้ดีต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

นอกจากนี้จากการศึกษาพรรณไม้ในเขตภูเขาหินปูนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นโครงการศึกษาวิจัยที่เน้นการศึกษาโดยเฉพาะภาคตะวันตกของประเทศไทย ร่วมกับ Dr. Carmen Puglisi นักพฤกษศาสตร์ แห่งสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ชาฤาษี หรือ African Violet ในวงการไม้ประดับ ร่วมกันตีพิมพ์พืชชนิดใหม่ของโลกในวารสาร Edinburgh Journal of Botany ฉบับล่าสุด

คณะผู้วิจัยได้ทำการสำรวจบริเวณพื้นที่ภูเขาหินปูนในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง อุดมสมบูรณ์ด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่า สำรวจพบ ชาฤาษีไทรโยค (Paraboea fimbriata) ภายในป่าของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี พบแห่งเดียว ในโลกที่อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เป็นดัชนีชี้วัดสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดีต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งยังเหมาะสมต่อการพัฒนาต่อยอดเพื่อเป็นไม้ประดับเชิงเศรษฐกิจต่อไป เนื่องจาก ชาฤาษีไทรโยคมีใบและดอกที่สวยงาม น่าจะเป็นไม้ประดับตัวใหม่โดยคณะผู้วิจัยและมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี กำลังร่วมกันศึกษาต่อยอดพืชชนิดนี้เพื่อส่งเสริมเป็นไม้ประดับเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต ซึ่งการศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยเพื่อก่อให้เกิดความยั่งยืน โดยไม่ต้องนำเข้าไม้ประดับจากต่างประเทศ

อาจารย์ ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย กล่าวในตอนท้ายว่า พืชทั้ง 2 ชนิดนี้ นอกจากเป็นพืชเฉพาะถิ่นของประเทศไทย ยังมีสถานภาพด้านการอนุรักษ์ตามเกณฑ์ของ IUCN พบว่าอยู่ในสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการวางแผนเพื่ออนุรักษ์ต่อไป

Recent post