คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล จัดงานแถลงข่าว “ซีเซียม (Cesium, Cs-137) กับยาต้านพิษ พรัสเซียนบลู (Prussian blue)”

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดมอบรางวัลโครงการประกวดแนวคิดเพื่อสงเสริมการเรียนการสอนออนไลน “Online Learning Pitching Contest ปลดปล่อยความคิดเนรมิตการเรียนรู้”
March 22, 2023
มหาวิทยาลัยมหิดล คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประจำปี 2565 (Thailand Quality Award 2022)
March 22, 2023

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล จัดงานแถลงข่าว “ซีเซียม (Cesium, Cs-137) กับยาต้านพิษ พรัสเซียนบลู (Prussian blue)”

วันที่ 22 มีนาคม 2566 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าว เรื่อง “ซีเซียม (Cesium, Cs-137) กับยาต้านพิษพรัสเซียนบลู (Prussian blue)” โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยาและหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์

โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสาทริยา ตระกูลศรีชัย ศูนย์พิษวิทยาและภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤศณัฎฐ์ เชื่อมสามัคคี ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมงานแถลงข่าว ณ ห้องประชุมชั้น B อาคารสุโขเพลส ถนนสุโขทัย กรุงเทพฯ

จากสถานการณ์กรณี การพบท่อบรรจุสารกัมมันตรังสี ซีเซียม 137 ในโรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่งในจังหวัดปราจีนบุรี ที่เกิดเหตุมีค่าความแรงรังสี (activity) ปัจจุบันอยู่ที่ 41.4 mCi ซึ่งเมื่อเทียบกับความแรงรังสีเริ่มต้นวัด เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2538 อยู่ที่ 80 mCi  หรือถ้าคิดเป็นน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 0.000505 กรัม (505 ไมโครกรัม) ในทางอุตสาหกรรมถือว่าอยู่ในระดับต่ำเพราะจากที่หาข้อมูลมีการใช้งานตั้งแต่ 1 – 10,000 mCi ซีเซียม (Cesium, Cs-137) เป็นสารกัมมันตรังสี โดยเป็นไอโซโทปของซีเซียม มีค่าครึ่งชีวิต (half-life) นาน โดยประมาณกว่า 30 ปี เมื่อสลายตัวจะปล่อยรังสีบีตาและรังสีแกมมา ความรุนแรงของรังสีที่มีต่อร่างกาย ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ปริมาณของรังสีที่ได้รับ ระยะเวลาที่ได้รับ ส่วนของร่างกายที่ได้รับ ซึ่งผลต่อร่างกาย แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ 1. ผลในระยะสั้น เมื่อมีการสัมผัสทางผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นแดง  คัน บวม มีตุ่มน้ำหรือแผลเกิดขึ้น อาจมีขนหรือผมร่วงได้ 2. ผลในระยะยาว เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้

ทั้งนี้ ปัจจุบัน Prussian blue มีคนนำมารักษาเป็นยาต้านพิษ เป็นสารที่ให้สีน้ำเงิน ถูกนำมาใช้เป็นยาต้านพิษที่ใช้ในการรักษาภาวะพิษจากซีเซียม โดยมีข้อบ่งชี้เฉพาะในผู้ป่วยที่มีการปนเปื้อนซีเซียมภายในร่างกาย (Internal contamination) เท่านั้น ไม่ใช้รักษาหากได้รับทางผิวหนังหรือปนเปื้อนตามเสื้อผ้า กลไกการออกฤทธิ์หลักของ Prussian blue คือ Prussian blue จับกับซีเซียมในลำไส้ ป้องกันไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ ยังลดการดูดกลับของซีเซียมจากที่มีผลยับยั้งขบวนการดูดกลับจากทางเดินอาหารไปยังตับและขับออกมาทางน้ำดีกลับสู่ทางเดินอาหารอีกครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา (enterohepatic recirculation) อย่างไรก็ตาม Prussian blue มีผลข้างเคียงเกิดขึ้นจากการได้รับยาในขนาดที่ใช้ในการรักษาได้ เช่น ท้องผูก หรือ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ อาจทำให้สีอุจจาระ เยื่อบุ หรือฟัน เปลี่ยนสีได้ ดังนั้น จึงไม่ควรซื้อมารับประทานเองเนื่องจากสารเคมีที่ซื้ออาจไม่ได้ถูกผลิตเป็นยา และอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้  การรักษาด้วยยาชนิดนี้ควรใช้ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์เท่านั้น

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ที่มา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

เรียบเรียงโดย งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป