มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเจ้าภาพจัดโครงการเสวนาสมาชิกเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย (UKM) ครั้งที่ 39 เรื่อง “University Rankings กับการพัฒนามหาวิทยาลัย”

มหาวิทยาลัยมหิดล โดยกองกายภาพและสิ่งแวดล้อม จัดโครงการศึกษาดูงานเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่
June 30, 2022
คณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท บิทคับ บล็อกเชน เทคโนโลยี จำกัด
June 30, 2022

มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเจ้าภาพจัดโครงการเสวนาสมาชิกเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย (UKM) ครั้งที่ 39 เรื่อง “University Rankings กับการพัฒนามหาวิทยาลัย”

วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดโครงการเสวนาสมาชิกเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย (University Knowledge Management : UKM) ครั้งที่ 39 เรื่อง “University Rankings กับการพัฒนามหาวิทยาลัย” ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. ภก.สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน โดยมีผู้บริหารและบุคลากรของมหาวิทยาลัยสมาชิกเครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยเข้าร่วมงานผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางปฏิบัติที่ดี ประสบการณ์ และการดำเนินการในเรื่อง University Rankings กับการพัฒนามหาวิทยาลัย สามารถนําไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยได้

ในช่วงเช้า ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายหัวข้อ “University Rankings กับการเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก (WCU)” โดยได้กล่าวถึง หน้าที่ของมหาวิทยาลัย ในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ เพื่อออกไปพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ และการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก จะมี 3 องค์ประกอบหลักคือ มีคนเก่ง ไม่ว่าจะเป็นครู นักเรียน เจ้าหน้าที่ นักวิจัยที่มีความรู้ความสามารถ และมีความร่วมมือกับนานาชาติ มีทรัพยากร เช่น การมีเครื่องมือในการทำวิจัย มีทุนในการจ้างบุคลากรชั้นนำมาทำงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในมหาวิทยาลัย และ มีธรรมาภิบาลในการบริหารงาน และการจัดการภายในองค์กร ทั้งนี้ การนำองค์กรไปสู่เป้าหมายนั้น การมีคุณภาพในด้านต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งสำคัญ อาทิ การเรียนการสอนที่จะได้รับการยอมรับในระดับเวิล์ดคลาส หลักสูตรต่างๆ ได้รับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาจากสถาบันชั้นนำที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบัณฑิตที่สามารถจะไปศึกษาต่อในสถาบันชั้นนำได้ นอกจากนี้ การผลักดันให้มหาวิทยาลัยเข้าร่วมการจัดอันดับมหาวิทยาลัยนั้น จะทำให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ยังช่วยให้เกิดความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ต่อยอดเป็นนวัตกรรมได้

จากนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายหัวข้อ “University Ranking: How important are they?” ได้กล่าวถึง ความสำคัญของการเข้าร่วมการจัดอันดับมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเป็นการอ้างอิงในระดับสากลได้ว่ามหาวิทยาลัยนี้อยู่ในลำดับที่เท่าไหร่ มีความโดดเด่นในด้านใด มหาวิทยาลัยสามารถใช้ข้อมูลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยจากสถาบันต่างๆ ในการสร้าง visibility ได้ และยังเครื่องมือหนึ่งที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย สามารถนำไปจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนามหาวิทยาลัย รวมถึงการนำมาประกอบในการพิจารณาความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ นอกจากนี้ นักศึกษาหรือบัณฑิตก็สามารถใช้ประกอบในการตัดสินใจในการเลือกสถานศึกษา เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมก็จะใช้ข้อมูลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยประกอบการพิจารณาการเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตบัณฑิตในหลักสูตรหรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง

ในช่วงบ่าย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หัวข้อ “University Rankings กับการพัฒนามหาวิทยาลัย” โดยผู้แทนจากมหาวิทยาลัยสมาชิกเครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ในหัวข้อต่างๆ ได้แก่ หัวข้อ “UI Green University” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึง ความเป็นมา ตัวชี้วัดและกระบวนการจัดอันดับโดย UI Green University รวมถึงแนวทางการจัดอันดับของ THE impact ranking พร้อมทั้งให้ความเห็นในการนำมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนามหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากนั้น หัวข้อ “KM University Rankings” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ธรา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ หัวข้อ “University Ranking” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถกร ทองทา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยนเรศวร รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ใกล้รุ่ง สามารถ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัทร์นรินทร์ ศุภกร รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์กิจการนานาชาติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และอาจารย์ ดร.ระพี บุญเปลื้อง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการ

เครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย (University Knowledge Management : UKM) เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัย 6 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มีจุดมุ่งหมายร่วมกันเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการจัดการความรู้ระหว่างสถาบันสมาชิกเครือข่าย โดยเฉพาะความร่วมมือตามกรอบการจัดสัมมนา เพื่อแลกเปลี่ยน ข้อมูลความรู้ ประสบการณ์และการดําเนินการในพันธกิจต่างๆ ของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งให้สมาชิกเครือข่ายหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพในการจัดสัมมนา เพื่อให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ นำไปสู่การพัฒนา และขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ระดับสากลต่อไป