คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล จัดงานแถลงข่าว “การศึกษาวิจัยเพื่อประเมินประสิทธิภาพยาต้านโควิด-19 งานวิจัยระดับนานาชาติหลายสถาบัน”

มหาวิทยาลัยมหิดล เฝ้าฯ รับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021)”
November 22, 2021
มหาวิทยาลัยมหิดล จัดนิทรรศการแสดงผลงานเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network : RUN)
November 23, 2021

คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล จัดงานแถลงข่าว “การศึกษาวิจัยเพื่อประเมินประสิทธิภาพยาต้านโควิด-19 งานวิจัยระดับนานาชาติหลายสถาบัน”

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าว “การศึกษาวิจัยเพื่อประเมินประสิทธิภาพยาต้านโควิด-19 งานวิจัยระดับนานาชาติหลายสถาบัน” โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิโคลัส ไวท์ หน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกซ์ฟอร์ด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงวีรวรรณ ลุวีระ ภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วิโรจน์ รักษากุล รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และนายแพทย์สมศักดิ์ ใช้ทรัพย์สถาพร รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลบางพลี ร่วมงานแถลงข่าว ณ ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 5 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ได้ดำเนินการวิจัยเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพยารักษาโรคโควิด-19 ชนิดต่าง ๆ ซึ่งการศึกษานี้เป็นโครงการวิจัยนานาชาติหลายสถาบัน โดยมีทีมการศึกษาของประเทศไทย ประกอบด้วย โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล และโรงพยาบาลบางพลี โรคโควิด-19 เป็นโรคระบาดใหม่ ซึ่งต้องการข้อมูลที่ชัดเจนในการใช้ยารักษา ปัจจุบันมียาเพียงไม่กี่ชนิดที่มีข้อมูลว่าสามารถลดปริมาณไวรัสได้โดยตรง ดังนั้น “ยาต้านไวรัสที่เข้าถึงได้” จึงมีความสำคัญสำหรับการรักษาโรคโควิด-19

การศึกษานี้เพื่อประเมินและเปรียบเทียบยาที่รักษาโรคโควิด-19 ต่างชนิด โดยประเมินอัตราการหายป่วยทางคลินิกและอัตราการลดปริมาณเชื้อไวรัสโควิด-19 ในลำคอผู้ป่วย เปรียบเทียบกับยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี (รีเจนเนอรอน) และการลดลงได้เองตามการดำเนินโรค ยาที่ใช้ในการศึกษาต้องเป็นยามาตรฐานที่มีอยู่เดิมสำหรับการรักษาโรคโควิด-19 หรือโรคอื่น ๆ ยาที่กำลังประเมินในรอบการศึกษาปัจจุบันโดยวิธีสุ่ม คือ ยากิน 2 ชนิด คือ “ฟาวิพิราเวียร์” และ “ไอเวอร์เมคติน” และยาฉีด 2 ชนิด คือ “เรมแดซิเวียร์” และ “รีเจนเนอรอน” โครงการวิจัยนานาชาติหลายสถาบันจะรับผู้ป่วยอาสาสมัครทั้งหมดประมาณ 750 คน สำหรับเครือข่ายในโรงพยาบาลในประเทศไทย จะรับอาสาสมัครประมาณ 200 คน และต้องเป็นคนไข้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระยะแรกแบบไม่รุนแรงเป็นเวลาไม่เกิน 4 วัน อายุระหว่าง 18-50 ปี ไม่เป็นผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงหรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการติดตามการเปลี่ยนแปลงของเชื้อไวรัส โดยป้ายเก็บเชื้อในลำคอทุกวันเป็นเวลา 7 วัน ปริมาณจีโนมของเชื้อโควิด-19 จากสิ่งที่ส่งตรวจวัดโดยวิธี RT-qPCR โดยศูนย์ห้องปฏิบัติชีวโมเลกุล คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้ความร่วมมือจากบริษัท Thermo Fisher Scientific เป็นเทคนิคเฉพาะที่มีความไวและความแม่นยำสูง โครงการนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ และได้ทำการศึกษาในผู้ป่วยโควิด-19 แล้วกว่า 31 ราย และผู้ที่รับยาภายใต้โครงการครบแล้ว ได้หายป่วยและสามารถกลับบ้านได้ทุกราย

ทั้งนี้ การศึกษาในรอบถัดไปจะมีการเพิ่มชนิดของยาเพื่อเปรียบเทียบและวัดประสิทธิภาพยารักษาโรคโควิด-19 ให้ครอบคลุมมากขึ้น  การศึกษาทางคลินิกเพื่อวัดประสิทธิผลของยาโดยตรง คือ ประเมินอัตราการหายป่วยทางคลินิกและอัตราการหายป่วยทางคลินิกและอัตราการกำจัดเชื้อโควิด-19 ในผู้ป่วยระยะแรก ผลการศึกษานี้จะใช้เป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ ปัจจุบัน ทั้ง 3 โรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล และโรงพยาบาลบางพลี ได้ให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ตามมาตรฐานและแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด