4 บุคลากร ม.มหิดล ได้รับทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากมูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ประจำปี 2561

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายในโครงการพัฒนานักบริหารระดับต้น มหาวิทยาลัยมหิดล รุ่นที่ 22 (MU-SUP#22)
March 8, 2019
พิธีเปิด “Kyoto University On-Site Laboratory at Mahidol University for Educational and Research Collaboration in Environmental Studies”
March 8, 2019

4 บุคลากร ม.มหิดล ได้รับทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากมูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ประจำปี 2561

4DE90ABC-17C8-48C3-8EBA-B618305D3C3A

8 มีนาคม 2562 รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธันย์ สุภัทรพันธุ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีกับ 4 บุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดลที่ได้รับทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากมูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ในพิธีมอบรางวัลและเงินทุนช่วยเหลือการวิจัย ครั้งที่ 25 ประจำปี 2561 จาก พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ซึ่ง มูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย จัดขึ้น ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก โดยพิจารณาจากหัวข้อวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือต่อการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ

โดยในปีนี้ มีบุคลากรจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ครั้งที่ 25 ประจำปี 2561 ถึง 3 ทุน ได้แก่ อาจารย์ ดร.พรินท์พิดา สนธิพันธ์ ภาควิชาชีววิทยา ได้รับทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากโครงการวิจัย เรื่อง “การศึกษาจุลินทรีย์ที่มีบทบาทในการเปลี่ยนรูปสารหนูในน้ำใต้ดินที่ได้รับผล กระทบจากกิจกรรมการเกษตรเพื่อเป็นแนวทางในการบำบัดมลพิษด้วยวิธีทางชีวภาพ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดาครอง พิศสุวรรณ กลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ ได้รับทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเคมี จากโครงการวิจัย เรื่อง “การตรวจหาเซลล์มะเร็งที่กระจายตัวในกระแสเลือดที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม ระยะแพร่กระจายด้วยอนุภาคนาโนของทองและอนุภาคนาโนที่มีคุณสมบัติทางแม่เหล็ก” และ อาจารย์ ดร. นายแพทย์ณัฐพล ภาณุพินธุ ภาควิชาสรีรวิทยา ได้รับทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาฟิสิกส์ จากโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีฐานสำหรับงานวิจัยด้านกระดูกโดยการผสมผสานการเลี้ยงเซลล์กระดูกสามชนิดเข้าด้วยกันในระบบที่มีการไหลเวียนของเหลวแบบต่อเนื่อง” ส่วนอีกทุน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ดุษมณี เสรีวัฒนาชัย ภาควิชาชีววิทยาช่องปาก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิศวกรรมศาสตร์ จากโครงการวิจัย เรื่อง “คุณลักษณะทางเคมีฟิสิกส์ และโครงสร้างพื้นผิวของสารแทนกระดูกที่ได้จากขบวนการแปรรูปฟันที่ถูกถอน” โดยผู้ได้รับทุนแต่ละท่านได้รับเงินทุนวิจัย จากมูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย

อาจารย์ ดร.พรินท์พิดา สนธิพันธ์ ได้รับทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากโครงการวิจัย เรื่อง “การศึกษาจุลินทรีย์ที่มีบทบาทในการเปลี่ยนรูปสารหนูในน้ำใต้ดินที่ได้รับผล กระทบจากกิจกรรมการเกษตรเพื่อเป็นแนวทางในการบำบัดมลพิษด้วยวิธีทางชีวภาพ” โดยได้กล่าวถึงปัญหาน้ำใต้ดินปนเปื้อนสารหนู จัดเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยการใช้น้ำใต้ดินปนเปื้อนสารหนูเพื่อการอุปโภคบริโภค และเกษตรกรรม ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้ เพราะสารหนูเป็นสารก่อมะเร็งการบำบัดสารหนู ด้วยวิธีทางชีวภาพอาศัยความสามารถของจุลินทรีย์ในการเปลี่ยนรูปสารหนูผ่านปฏิกิริยาอาร์ซีในต์ออกซิเดชั่นอาร์ซีเนตรีดักชัน และการเติมหมู่เมทิลเนื่องจากอาร์ซีในต์ (As3+) เป็นรูปแบบที่พบมากในน้ำใต้ดินและมีพิษร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิตการบำบัดสารหนูตกค้างในน้ำใต้ดินจึงมุ่งเน้นที่ปฏิกิริยาอาร์ซีในต์ออกซิเดชั่นซึ่งเป็นการเปลี่ยนรูปี As3+ เป็น As5+ปฏิกิริยานี้ขับเคลื่อนโดยอาร์ซีในต์ออกซิไดซึ่งแบคทีเรียโดยใช้เอนไซม์อาร์ซีในต์ออกซิเดส (aio) จุลินทรีย์กลุ่มนี้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีการดูดซับทางชีวภาพและการสะสมทางชีวภาพต่อไปโครงการวิจัยนี้ใช้แอ่งน้ำใต้ดินระยองเป็นพื้นที่ศึกษาเนื่องจากน้ำใต้ดินบริเวณนี้ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมการเกษตรและมีปริมาณสารหนูเกินเกณฑ์อนุโลมสูงสุดวัตถุประสงค์หลักของโครงการวิจัยนี้คือการศึกษาความหลากหลายและปริมาณของจุลินทรีย์ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนรูปสารหนูในน้ำใต้ดินที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมการเกษตรโดยใช้การวิเคราะห์ไมโครไบโอมร่วมกับเทคโนโลยี NGS รูปแบบ Illumina MiSeq ในการศึกษายืน 16S rRNA บริเวณ V3-V4 และใช้เทคนิค PCR-cloning sequencing และ quantitative PCR ในการตรวจหาและนับจำนวนยืน aio4 องค์ความรู้ที่ได้จากโครงการวิจัยนี้จัดเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญที่จะถูกนำไปใช้เพื่อวางแผนและพัฒนาแนวทางการบำบัดพื้นที่ปนเปื้อนสารหนูต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดาครอง พิศสุวรรณ ได้รับทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเคมี จากโครงการวิจัย เรื่อง “การตรวจหาเซลล์มะเร็งที่กระจายตัวในกระแสเลือดที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม ระยะแพร่กระจายด้วยอนุภาคนาโนของทองและอนุภาคนาโนที่มีคุณสมบัติทางแม่เหล็ก” โดยได้กล่าวถึงโรคมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายเป็นโรคที่มีความหลากหลาย และก่อให้เกิดปัญหากับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ดังนั้นการมีกระบวนการตรวจหาเซลล์มะเร็งก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นระยะแพร่กระจายจะช่วยลดปัญหาให้กับผู้ป่วยได้ การตรวจหาเซลล์มะเร็งที่กระจายตัวในกระแสเลือด (CTCs) เป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าวแต่ปริมาณของเซลล์ CTCs ที่กระจายอยู่ในกระแสเลือดมีปริมาณต่ำกว่าเซลล์เม็ดเลือดขาว และเม็ดเลือดแดง ส่งผลทำให้เป็นการยากที่จะตรวจวัด CTCs ที่กระจายอยู่ในกระแสเลือดระบบการค้นหาเซลล์ที่เรียกว่า CellSearch เป็นแนวทางหนึ่งที่นำมาใช้ในการวัด CTCs แต่เทคนิคนี้สามารถตรวจวัดได้เฉพาะ CTCs ประเภท EpCAM” ทำให้ลดประสิทธิภาพในการตรวจจับด้วยวิธีดังกล่าวอนุภาคนาโนได้ถูกนำมาใช้ในงานวิจัยทางด้านการแพทย์เป็นอย่างมากเนื่องจากอนุภาคนาโนมีคุณสมบัติและโครงสร้างที่มีประโยชน์หลายอย่างดังนั้นงานวิจัยชิ้นนี้จึงได้เสนอแนวทางในการนำอนุภาคนาโนทองและอนุภาคนาโนแม่เหล็กมาใช้ในการตรวจวัด CTCs ในเลือด

อาจารย์ ดร. นายแพทย์ณัฐพล ภาณุพินธุ ได้รับทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาฟิสิกส์ จากโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีฐานสำหรับงานวิจัยด้านกระดูกโดยการผสมผสานการเลี้ยงเซลล์กระดูกสามชนิดเข้าด้วยกันในระบบที่มีการไหลเวียนของเหลวแบบต่อเนื่อง” โดยได้กล่าวถึงปัจจัยหลายประการที่มีผลเสียต่อมวลกระดูก อาทิ อายุที่เพิ่มมากขึ้น ภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนในกลุ่มหญิงหมดประจำเดือน นอกจากนี้ การลดลงของมวลกระดูกยังเกี่ยวข้องกับการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังบางโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคธาลัสซีเมีย การเกิดภาวะสูญเสียมวลกระดูกนี้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหักทำให้ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ และเป็นภาระแก่ผู้ดูแลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม แต่ ณ ปัจจุบันการรักษาโรคกระดูกพรุนยังมีข้อจำกัดเนื่องจากยาที่ใช้ไม่มีประสิทธิภาพดีพอ หรือลดประสิทธิภาพลงเมื่อใช้ในระยะยาวยาบางชนิดยังมีผลข้างเคียงจนทำให้ต้องยุติการรักษา นอกจากนี้การทดสอบุประสิทธิภาพของสารที่ผ่านมามักทำในระบบนิ่งที่มีเซลล์เพียงชนิดเดียว ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงภายในกระดูกจริง เพราะกระดูกประกอบด้วยเซลล์หลายชนิดที่ถูกกระต้น ด้วยแรงภายนอกตลอดเวลา ดังนั้นโครงงานวิจัยนี้ จึงนำเสนอวิธีการศึกษาแบบใหม่โดยใช้เทคโนโลยีฐานที่มีระบบขับเคลื่อนของเหลวแบบต่อเนื่อง ทำให้เซลล์กระดูกสามารถสื่อสารกันได้โดยตรง โดยช่วงแรกจะเป็นการทดสอบระบบด้วยยาที่ใช้อยู่ในคลินิก เพื่อรักษาภาวะกระดูกพรุนโดยใช้เทคนิคที่ไม่ซับซ้อนได้ผลแม่นยำ ช่วงที่สองจะเป็นการทดสอบการทำงานของเซลล์กระดูกโดยจำลองภาวะที่เกิดในโรคที่ได้กล่าวข้างต้น โดยต้องการทราบกลไกการทำงานของเซลล์กระดูกในภาวะเหล่านี้ เทคโนโลยีใหม่นี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองยา หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้รักษาภาวะกระดูกพรุน อีกทั้งได้สารที่ปลอดภัยก่อนนำไปทดสอบในสัตว์ทดลอง และมนุษย์ต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.ดุษมณี เสรีวัฒนาชัย ได้รับทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิศวกรรมศาสตร์ จากโครงการวิจัย เรื่อง “คุณลักษณะทางเคมีฟิสิกส์ และโครงสร้างพื้นผิวของสารแทนกระดูกที่ได้จากขบวนการแปรรูปฟันที่ถูกถอน”โดยได้กล่าวถึงปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศไทย พบว่าประชากรไทยมีการสูญเสียฟันเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยผู้หญิงมักจะสูญเสียฟันก่อนผู้ชาย ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถกระตุ้นทำให้เกิดการสลายตัวของกระดูกขากรรไกรเร็วกว่าปกติ เช่น โรคปริทันต์อักเสบ การใช้ยาเส้น ยานัตถุ์ และอุบัติเหตุ ซึ่งมักทำให้เกิดการสูญเสียฟันก่อนวัยอันควร ซึ่งการสูญเสียฟันส่งผลให้เร่งอัตราการสลายของกระดูก เบ้ารากฟัน และขากรรไกรมากขึ้น ดังนั้น สารปลูกถ่ายแทนกระดูก จึงมีความสำคัญต่อการใช้ เพื่อเพิ่มมวลกระดูกเบ้าฟันก่อนการวางแผนการผ่าตัดขากรรไกร หรือการฝังรากเทียม การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์สารแทนกระดูกที่ได้จากขบวนการแปรรูปฟันที่ถูกถอน เทียบกับสารปลูกกระดูกที่ใช้ในคลินิกปัจจุบัน เพื่อวิเคราะห์โครงสร้างคริสตัล และองค์ประกอบทางเคมี รวมทั้งการละลายของแคลเซียมฟอสเฟตของสารแทนกระดูกที่ได้จากขบวนการแปรรูปฟันที่ถูกถอน, xenograft (BioOss®), alloplastic graft (Bone Ceramic®), allograft (OraGRAFT®), และกระดูกขากรรไกรส่วนหลัง โดยใช้เทคนิค X-ray diffraction (XRD), Energy Dispersive ) X-ray Spectroscopy (EDS), Inductively Coupled Plasma Mass Spectrometry (ICP-MS) และ Ion Chromatograph (IC) นอกจากนี้จะประเมินประสิทธิภาพการกำจัดจุลชีพของวิธีที่ใช้ในคลินิกหลังจากผ่านเครื่องมือบดฟัน โดยข้อมูลที่ได้จะเป็นค่าโคโลนีฟอร์มมิงยูนิตต่อน้ำหนักของฟัน หลังจากการประเมิน และตรวจสอบคุณสมบัติดังกล่าว สารแทนกระดูกที่ได้จากขบวนการแปรรูปฟันที่ถูกถอนข้างเก้าอี้ทำฟันจะสามารถเป็นทางเลือกสำหรับใช้เป็นสารปลูกกระดูกได้ ถ้าผลจากการวิเคราะห์คุณลักษณะทางเคมีฟิสิกส์ และโครงสร้างพื้นผิวพบว่ามีคุณสมบัติเหมือน หรือใกล้เคียงกับสารปลูกกระดูกที่ใช้ในคลินิกปัจจุบัน ทั้งนี้ข้อดี คือ ใช้งบประมาณการผลิตน้อยกว่ามาก ประหยัดค่าใช้จ่ายของคนไข้ และองค์กรทันตกรรมโดยรวม และสามารถเตรียมสารวัสดุเพื่อใช้ได้ทันที

Recent post