คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมทุนกับเอกชนพัฒนานวัตกรรมรักษาภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันสู่ระดับโลก

ศูนย์บริหารความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดลัอมในการทำงาน (COSHEM) จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “มาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับสารเคมี”
September 9, 2019
นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดนวัตกรรม หรือโครงการต้นแบบ เพื่อพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่
September 10, 2019

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมทุนกับเอกชนพัฒนานวัตกรรมรักษาภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันสู่ระดับโลก

inno1

วันที่  9 กันยายน  2562 ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามสัญญาร่วมลงทุนความร่วมมือวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ กับ ดร.นพ.ปราโมทย์ หอเจริญ ผู้ก่อตั้งบริษัท NirvaMed Inc. พร้อมด้วย นายสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) พญ.ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม 1 รพ.กรุงเทพ นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดร.อาวุธ พลอยส่องแสง Digital Business Director บริษัท ดับเบิ้ลเอ (1991) จำกัด (มหาชน) และนักลงทุนอิสระ  ดร.ธีรธร  ธาราไชย CEO of Ahead Advisory และ นายนรา พงษ์วิรัชไชย นักลงทุนอิสระ ณ ห้องโถงจัดแสดง ชั้น 12 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ (SIMR) รพ.ศิริราช

ความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล  บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)  บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BDMS) บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ดับเบิ้ลเอ (1991) จำกัด (มหาชน)  นักลงทุนอิสระ และบริษัท NirvaMed Inc. เพื่อสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ที่สามารถนำใช้ได้จริง เกิดประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ ซึ่งจะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงกระบวนการในการผลักดันให้เกิดการสร้างผลงานนวัตกรรมในระดับประเทศ (early stage) ออกสู่ระดับโลก (Global stage) อันจะนำมาซึ่งองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนให้นักวิจัยและองค์กรไทยสามารถผลิตผลงานนวัตกรรมออกสู่เวทีระดับโลกได้

ทั้งนี้  ในการดำเนินการร่วมลงทุนดังกล่าวจะมีการดำเนินการในด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมให้ได้ข้อมูลในเชิงวิชาการสนับสนุนผลงานที่เกิดขึ้นนำไปสู่การใช้จริงในมนุษย์ เพื่อผลักดันให้เกิดกระบวนการรับรองมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ที่ถูกต้องในทุกมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงแนวทางการดำเนินการนำผลงานนวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์ระดับโลกอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญาระดับโลก ตลอดจนสร้างกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับโครงสร้างการลงทุนระดับโลกในการพัฒนานวัตกรรม

การพัฒนาเทคโนโลยีการทำความเย็นหัวใจและหลอดเลือดด้วยวิธีการที่ทำให้หัวใจเย็นอย่างเฉียบพลันเฉพาะจุดอย่างรวดเร็ว (Rapid & Localized Heart Cooling System) สำหรับรักษาภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ทั่วโลก อุปกรณ์นี้จะสามารถลดอัตราการตายของกล้ามเนื้อหัวใจได้ร้อยละ 80-90  เมื่อเทียบกับการรักษามาตรฐานในปัจจุบัน เป็นการพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ที่สร้างสรรค์โดยนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชาวไทย โดยจะจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยที่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ ผู้ป่วยภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน มักจะได้รับผลแทรกซ้อนจากภาวะ reperfusion injury    (การอักเสบจากการไหลกลับมาของเลือดที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ) และภาวะ no reflow  (การบาดเจ็บและอุดตันของเส้นเลือดฝอยที่กล้ามเนื้อหัวใจ) ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเป็นจำนวนมาก และทำให้เกิดหัวใจวายและหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน  ผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 10-20 ของผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจะเสียชีวิตภายในหนึ่งปี  และปัจจุบันนี้ยังไม่มีวิธีรักษา หากการศึกษาวิจัยนี้ประสบความสำเร็จจะสามารถช่วยชีวิตผู้ประสบภาวะหัวใจวายได้หลายล้านคนทั่วโลก นับเป็นครั้งแรกที่การวิจัยทางการแพทย์ของประเทศสามารถเปลี่ยนแนวทางการแพทย์ในระดับโลก ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกด้านการรักษาโรคหัวใจวาย

ดังนั้น การลงนามสัญญาร่วมลงทุนความร่วมมือวิจัย และพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือที่จะช่วยกันสนับสนุนงานวิจัย และพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์ของไทยอย่างยั่งยืน แสดงให้เห็นถึงการนำผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นไปใช้ได้จริงในเชิงสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 ในการขับเคลือนประเทศด้วยนวัตกรรม บนพื้นฐานของงานวิจัยวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาพรวมของวงการแพทย์ของไทยในระดับสากล และส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้นต่อไป

Recent post