ม.มหิดล จับมือ University of Strathclyde แถลงเปิด “หลักสูตรร่วมนานาชาติวิศวกรรมศาสตร์ THAI-UK ระหว่าง Mahidol-Strathclyde” มุ่งเน้นเพิ่มบุคลากร และงานวิจัยคุณภาพรองรับอุตสาหกรรมโลก

NIDA’s Specialized Training Held at Mahidol University International College MUIC
January 8, 2018
โครงการ Enjoy Science “สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต”
January 15, 2018

ม.มหิดล จับมือ University of Strathclyde แถลงเปิด “หลักสูตรร่วมนานาชาติวิศวกรรมศาสตร์ THAI-UK ระหว่าง Mahidol-Strathclyde” มุ่งเน้นเพิ่มบุคลากร และงานวิจัยคุณภาพรองรับอุตสาหกรรมโลก

eg5

วันที่ 25 พฤษภาคม 2560 เวลา 11.00 น. ณ Quartier Water Garden ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ มีการจัดแถลง “หลักสูตรร่วมนานาชาติวิศวกรรมศาสตร์ THAI-UK ระหว่าง Mahidol-Strathclyde” โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ University of Strathclyde สหราชอาณาจักร เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์หลักสูตรที่จะเริ่มเปิดการเรียนการสอนในปีนี้เป็นปีการศึกษาแรก และเป็นการแสดงบทบาทของมหาวิทยาลัยในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการมุ่งสู่ Thailand 4.0 ด้วยการเปิดหลักสูตรร่วมนานาชาติวิศวกรรมศาสตร์ ผลิตบัณฑิตที่มุ่งสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรม มุ่งเน้นเพิ่มบุคลากรและงานวิจัยคุณภาพเพื่อรองรับอุตสาหกรรมโลก

สำหรับที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ University of Strathclyde สหราชอาณาจักร มีความร่วมมือกันในด้านวิชาการมาอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นผลจากการต่อยอดการลงนามความร่วมมือในงาน Symposium Mahidol-Strathclyde ที่จัดขึ้นในปี 2559 ที่ผ่านมา โดย University of Strathclyde เป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบที่มีชื่อเสียงระดับโลกด้านการออกแบบและผลิตนวัตกรรม การที่ได้จัดทำหลักสูตรร่วมนานาชาติวิศวกรรมศาสตร์ครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนานักศึกษาให้มีความรู้ ความสามารถ เพื่อสร้างงานวิจัยที่สามารถพัฒนาเป็นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ สู่การเป็นผู้ประกอบการ และรองรับภาคอุตสาหกรรมโลกได้”

Prof. Alexander Galloway, Vice Dean of Engineering, University of Strathclyde ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ University of Strathclyde “ตลอดระยะเวลากว่าสามปีที่ผ่านมามีการทำวิจัยร่วม การส่งนักศึกษาแลกเปลี่ยน รวมทั้งการไปมาหาสู่เยี่ยมเยือนกัน และด้วยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีประสบการณ์การวิจัยและพัฒนา รวมถึงการศึกษาทางวิชาการด้านการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมากว่า 15 ปี นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในต่างประเทศ ซึ่งเป็นความพร้อมที่จะสามารถร่วมกันสร้างหลักสูตร เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ และมุ่งมั่นพัฒนาศาสตร์ด้านวิศวกรรมเพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกัน”

 รองศาสตราจารย์ ดร.นรเศรษฐ์ ณ สงขลา หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ กล่าวถึงหลักสูตรสาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ “เป้าหมายของหลักสูตรนานาชาติสาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คือ นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรจะสามารถจัดการกับปัญหาทั้งทางด้านวิศวกรรม และทางการแพทย์ตามความต้องการของสังคมและประชาคมระหว่างประเทศได้ โดยหลักสูตร Double Degree นี้จะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ไปศึกษา ณ University of Strathclyde เป็นเวลา 2 ปี สำหรับหลักสูตรปริญญาตรี โดยจะเน้นการศึกษาบนการทำโปรเจคและงานวิจัยร่วมกันระหว่าง 2 สถาบัน และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว บัณฑิตจะได้รับ 2 ปริญญา จากทั้ง 2 สถาบัน ซึ่งการเปิดหลักสูตรนานาชาตินี้นับเป็นก้าวหนี่งที่สำคัญของภาควิชา”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วนิดา คูอมรพัฒนะ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเคมี กล่าวถึงคุณลักษณะเฉพาะของบัณฑิตจากหลักสูตรนานาชาติสาขาวิศวกรรมเคมี “เรามุ่งเน้นสร้างวิศวกรเคมีระดับมืออาชีพที่มีคุณสมบัติทางด้านการศึกษาและการทำงานให้กับนายจ้างทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยการศึกษาหลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาตรีนี้ มุ่งเน้นทักษะการวิจัยในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ด้านเคมีร่วมกับทางมหาวิทยาลัย Strathclyde ที่ก่อนหน้านี้ได้มีการร่วมกันร่างหลักสูตรที่สอดคล้องกันทั้งหลักสูตร เพื่อให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาชั้นปีที่ 2 ในหลักสูตรสามารถไปเรียนต่ออีก 2 ปี ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย Strathclyde ได้อย่างไร้รอยต่อ และเพื่อให้บัณฑิตที่จบมีทั้งทักษะด้านความรู้และทักษะด้านการปฏิบัติ พร้อมสำหรับการทำงานในระดับนานาชาติอย่างมืออาชีพ”

ผู้บริหาร มหาวิทยาลัยมหิดล และ British Council ได้กล่าวแสดงความยินดี และย้ำพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในความร่วมมือของทั้ง 2 มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ โดยที่ผ่านมาทาง British Council ก็ได้สนับสนุนมหาวิทยาลัยมหิดลในการเข้าร่วมโครงการสนับสนุนความเป็นนานาชาติอุดมศึกษาในประเทศไทยด้านการศึกษา ระหว่างประเทศ (Transnational Education) เพื่อจัดทำหลักสูตร Dual Degree ทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก ด้านมหาวิทยาลัยมหิดลก็พร้อมสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรการศึกษา ตามนโยบายรัฐบาลในการผลักดันให้ประเทศไทยมีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมใหม่ โดย 1 ใน 5 อุตสาหกรรมใหม่ คือ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ทั้งนี้ หลักสูตรร่วมนานาชาติวิศวกรรมศาสตร์ เป็นหลักสูตรที่จะผลิตบัณฑิตที่ตอบสนองตอบนโยบายดังกล่าว ประกอบกับความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และโรงพยาบาลหลักทั้งหมดหกแห่ง การจัดแถลงเปิดหลักสูตรร่วมนานาชาติวิศวกรรมศาสตร์ในวันนี้ จึงเป็นการตอกย้ำบทบาทและความพร้อมของมหาวิทยาลัยในการสร้างมาตรฐานงานวิจัย และพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมของประเทศบนพื้นฐาน Entrepreneurial University ซึ่งเป็นการนำองค์ความรู้มาประยุกต์และถ่ายทอดสู่ประชาคม เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมโลกในอนาคต

นอกจากการแถลงข่าวแล้ว ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานนวัตกรรม อาทิเช่น การผลิตไบโอดีเซลด้วยวิธีทางไฟฟ้าเคมี หุ่นยนต์ผ่าตัด หุ่นยนต์ส่งยาอัตโนมัติสำหรับขนเวชภัณฑ์ในสถานดูแลผู้สูงอายุ สายสวนปัสสาวะเคลือบอนุภาคนาโนบรรจุสารต้านจุลชีพ หุ่นยนต์เสริมการกระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติก นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์ช่วยเตือนหลับในด้วยสัญญาณสมอง (ALERTZ) ซึ่งเป็นผลงานที่ตอบสนองนโยบาย Startup ของรัฐบาลอีกด้วย ทั้งนี้หลักสูตรพร้อมที่จะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 เป็นต้นไป