รายละเอียดการยกร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.....

การดำเนินการสมัย ศาสตราจารย์เกียรติคุณอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นอธิการบดี

ปี พ.ศ.๒๕๔๐

เดือนกรกฎาคม

คณะรัฐมนตรีมีมติเกี่ยวกับการที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งของรัฐต้องออกนอกระบบภายในปี พ.ศ.๒๕๔๕

เดือนธันวาคม

คณะรัฐมนตรีมีมติเรื่องการปฏิรูประบบราชการ การปรับเปลี่ยนระบบมหาวิทยาลัยและการมีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

ปี พ.ศ.๒๕๔๑

เดือนมกราคม

ทบวงมหาวิทยาลัยแจ้งทุกหน่วยงานในสังกัดเพื่อรับทราบมติคณะรัฐมนตรี

เดือนมกราคม-เมษายน

มหาวิทยาลัยรวบรวมความคิดเห็นของผู้บริหารในการดำเนินการเรื่อง การเตรียมมหาวิทยาลัยมหิดลไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

เดือนเมษายน-สิงหาคม

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยออกประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนระบบบริหารของมหาวิทยาลัย  ให้บุคลากรของคณะ/สถาบันต่างๆ ได้ทราบ

เดือนกันยายน

เสนอการปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ  ต่อที่ประชุมคณบดีเป็นครั้งแรก

เดือนตุลาคม

เสนอการปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ  ต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก

ปี พ.ศ.๒๕๔๒

เดือนมีนาคม

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยยกร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาเป็น ๒ ฉบับ
    ร่างที่ ๑ เป็นร่างของอธิการบดี
    ร่างที่ ๒ เป็นร่างของรองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน

๒ เมษายน

มหาวิทยาลัยจัดประชุมระดมความคิดเห็นเรื่องการเตรียมมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ  ครั้งที่ ๑ (ทำให้เกิดมีร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับที่ ๑)

๙ กรกฎาคม

มหาวิทยาลัยจัดประชุมระดมความคิดเห็นเรื่องการเตรียมมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ  ครั้งที่ ๒ (ทำให้เกิดมีร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับที่ ๒)

๑๓ สิงหาคม

มหาวิทยาลัยจัดประชุมระดมความคิดเห็นเรื่องการเตรียมมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ  ครั้งที่ ๓ (ทำให้เกิดมีร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับที่ ๓)

๑๐ กันยายน

มหาวิทยาลัยจัดประชุมระดมความคิดเห็นเรื่องการเตรียมมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ  ครั้งที่ ๔ (ทำให้เกิดมีร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับที่ ๔)

๑๕ กันยายน

มหาวิทยาลัยนำเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับที่ ๔ ต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา  เมื่อพิจารณาแล้วจึงปรับปรุงแก้ไขเป็นร่างฉบับที่ ๕

๑๗ พฤศจิกายน

สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วย ฯพณฯ มีชัย  ฤชุพันธุ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ รองศาสตราจารย์พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณประเวศ  วะสีและนายธงชัย  ลำดับวงศ์

๑๕ ธันวาคม

สภามหาวิทยาลัยมหิดลแต่งตั้งศาสตราจารย์พรชัย  มาตังคสมบัติ อธิการบดีเป็นคณะทำงานพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่มเติม

การดำเนินการสมัย ศาสตราจารย์เกียรติคุณพรชัย มาตังคสมบัติ เป็นอธิการบดี

ปี พ.ศ.๒๕๔๓

๗ มกราคม

ประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ ๑ ปรับแก้ไขเป็นร่างฉบับที่ ๖

๑๗ มกราคม

ประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ ๒ ปรับแก้ไขเป็นร่างฉบับที่ ๗ ในการนี้ คณะทำงานกลุ่มย่อยซึ่งประกอบด้วยรองศาสตราจารย์นิวัติ พลนิกร รองศาสตราจารย์สมพร เรืองผกา หัวหน้าสำนักงานอธิการบดี ผู้อำนวยการกองกฎหมาย ผู้อำนวยการกองกลางและนิติกร กองกฎหมาย  ได้นำข้อเสนอของคณะทำงานฯ มาปรับแล้วนำเสนอ ฯพณฯ มีชัย พิจารณาแล้วจึงออกมาเป็นร่างฉบับที่ ๗ และ ๘ ตามลำดับ

๑๖ กุมภาพันธ์

นำเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับที่ ๘  เข้าสู่วาระการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๓๑๓ เพื่อพิจารณา  ซึ่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยได้ให้ข้อเสนอแนะรวมทั้งข้อคิดเห็นหลายประการ  และมีมติให้นำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับที่ ๘ ดังกล่าวเผยแพร่แก่ประชาคมของมหาวิทยาลัยเพื่อทราบ   ในการนี้ ได้จัดพิมพ์ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับที่ ๘ และข้อคิดเห็นของกรรมการสภามหาวิทยาลัยเป็นรูปเล่ม และเผยแพร่แก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยทุกคน  เพื่อศึกษาก่อนที่จะจัดประชุมเพื่อประมวลความคิดเห็น

๑๔ มีนาคม

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการและแนวทางการดำเนินการเพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัยของรัฐไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ข้าราชการได้ปรับเปลี่ยนเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยแล้วยังมีสิทธิได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐยังคงยกเว้นภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๓๙ และพนักงานมหาวิทยาลัยยังคงสิทธิการค้ำประกันหรือสิทธิการประกันตัวเช่นเดียวกับข้าราชการ เป็นต้น

๕ เมษายน

จัดประชุมเพื่อชี้แจงและระดมความเห็นของบุคลากร ครั้งที่ ๑  ณ คณะวิทยาศาสตร์    (ตึกกลม)

๒๖ เมษายน

จัดประชุมเพื่อชี้แจงและระดมความเห็นของบุคลากร ครั้งที่ ๒
ณ สำนักงานอธิการบดี  ศาลายา

๓ พฤษภาคม

จัดประชุมเพื่อชี้แจงและระดมความเห็นของบุคลากร ครั้งที่ ๓  ณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (หอประชุมราชแพทยาลัย)

๑๙ กรกฎาคม

คณะทำงานฯ เสนอร่างพระราชบัญญัติเข้าที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย  (เป็นร่างฉบับที่ ๙) ในการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๓๑๘ ซึ่งที่ประชุมสภาฯพิจารณาแล้วในหลายมาตรายังไม่ชัดเจน  จึงเห็นสมควรให้มีการจัดประชุมสภามหาวิทยาลัยนัดพิเศษขึ้นเพื่อพิจารณาเป็นการเฉพาะ  และเห็นสมควรให้อธิการบดีรับไปดำเนินการ

๑๖ สิงหาคม

ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล (ฉบับที่ ๙) ถึงมาตรา ๒๒ เมื่อเวลาประมาณ  ๑๙.๐๐ น. และที่ประชุมเห็นสมควรให้มีการพิจารณาต่อครั้งต่อไปในวันพุธที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๓  ตั้งแต่เวลา ๙.๐๐ น. ถึง ๑๘.๐๐ น.  ณ ห้องประชุม ๙๐๖ อาคารสำนักงานอธิการบดี ปิ่นเกล้า

๖ กันยายน

ประชุมสภามหาวิทยาลัยเป็นนัดพิเศษ ต่อจากการประชุมเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๓  ตั้งแต่มาตรา ๒๓ เป็นต้นไป  และพิจารณาจนเสร็จเรียบร้อย

๒๐ กันยายน

ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดลอีกครั้ง  และขอให้ปรับปรุงแก้ไขข้อความบางมาตราให้ถูกต้องและให้จัดส่งร่างพระราชบัญญัติฯ ให้บุคลากรทุกท่านทราบโดยทั่วกัน

๑๘ ตุลาคม

ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๓๒๑ มีมติเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ....  และให้มหาวิทยาลัยดำเนินการนำเสนอคณะรัฐมนตรี  ตามขั้นตอนต่อไป

๒๖ ตุลาคม

มหาวิทยาลัยจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากบุคลากรทุกฝ่ายเพิ่มเติม  เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการเข้าชี้แจงต่อกรรมการกฤษฎีกา  ตามลำดับ

๗ พฤศจิกายน

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ... และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา

๒๐ ธันวาคม

อธิการบดีเสนอรายงานต่อสภามหาวิทยาลัย เพื่อทราบกรณี  คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ....และได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา

ปี พ.ศ.๒๕๔๔

๒๙ มีนาคม

กรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๘) เริ่มพิจารณาตรวจร่างพระราชบัญญัติ
มหาวิทยาลัยมหิดล
  พ.ศ.... เป็นนัดแรก 

กรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ....จนถึงเดือนตุลาคม ๒๕๔๖
จึงได้มีหนังสือแจ้งมหาวิทยาลัยมหิดลพิจารณา หากเห็นชอบให้แจ้งยืนยันความเห็นเกี่ยวกับ ร่างพระราชบัญญัติ
กลับไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ปี พ.ศ.๒๕๔๖

๒๘ ตุลาคม

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีหนังสือถึงมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้พิจารณายืนยันร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.... ที่ผ่านการตรวจพิจารณาแล้ว

๕ พฤศจิกายน

มหาวิทยาลัยมหิดลมีหนังสือตอบสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และได้แจ้งว่ากรณียังมีประเด็นอันเป็นสาระสำคัญที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย จึงเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาด้วย

ปี พ.ศ.๒๕๔๗

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ....แล้วเสร็จเมื่อเดือน
กันยายน ๒๕๔๗ (เรื่องเสร็จที่ ๘๑๓/๒๕๔๗) แล้วเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ....กลับไปที่
คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและดำเนินการต่อไป

๒๗ กันยายน

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งผลการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ..... ให้มหาวิทยาลัยมหิดลทราบ และแจ้งด้วยว่าในการตรวจพิจารณาร่างฯ ดังกล่าวมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นเพิ่มเติมแล้วเห็นสมควรแก้ไข แต่ยังคงไว้ (ไม่แก้ไข) ใน ๓ เรื่อง คือ

(๑)   การกำหนดให้การสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยจากภาคเอกชน ชุมชน หรือสังคมตามความเหมาะสมและภูมิหลังของมหาวิทยาลัย นั้น เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีให้เป็นไปตามความเหมาะสมของแต่ละมหาวิทยาลัย เมื่อกรณีของมหาวิทยาลัยมหิดลมิได้กำหนด รายละเอียดในเรื่องดังกล่าวไว้ จึงไม่มีกรณีที่ต้องบัญญัติไว้และคงเป็นไปตามร่างเดิม

(๒)   คงร่างมาตรา ๓๖ เรื่อง การดำเนินงานของสำนักงานอธิการบดีโดยไม่แก้ไข เนื่องจากร่างมาตรา ๑๐ วรรคสาม ได้กำหนดให้สำนักงานอธิการบดีมีหน้าที่บริหารงานทั่วไปของมหาวิทยาลัยหรือตามที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมายอยู่แล้ว การเพิ่มให้ปฏิบัติตามข้อบังคับจะทำให้บทบัญญัติขัดแย้งกัน

(๓)   ร่างมาตรา ๖๑ เรื่องการใช้คำว่า “ชั้น” หรือ “ระดับ” ของปริญญานั้น ได้คงใช้คำว่าชั้นของปริญญาตามเดิมเพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่ได้กำหนดไว้เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐอื่นๆ ซึ่งจะทำให้การใช้ถ้อยคำของกฎหมายมีรูปแบบเดียวกัน

ปี พ.ศ.๒๕๔๘

๒๗ เมษายน

สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาและลงมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ..... (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ) และตั้งคณะกรรมาธิการคณะหนึ่งจำนวน ๓๕ คน เป็นผู้พิจารณา
โดยมหาวิทยาลัยมหิดลมีผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงหพันธ์    ทองสวัสดิ์ ร่วมเป็นกรรมาธิการฯ

๔ พฤษภาคม

คณะกรรมาธิการฯ นัดประชุมครั้งแรก โดยในการประชุมครั้งนั้น ได้มีการแต่งตั้งกรรมาธิการฯ ในทำหน้าที่ต่างๆ

๑๒ พฤษภาคม

คณะกรรมาธิการฯ เริ่มตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.....เป็นครั้งแรก

 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.... ได้ประชุมพิจารณารวม ๑๕ ครั้ง ใช้เวลา
ตั้งแต่วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๘ จนถึงวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

๗ ธันวาคม

ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.... (นายพีรพันธุ์ พาลุสุข) มีหนังสือแจ้งประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า   คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ..... เสร็จแล้วสมควรนำเสนอที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

๑๔ ธันวาคม

เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้มีหนังสือแจ้งระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยปรากฏในวาระการประชุม(สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เป็นพิเศษในวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๘ มีร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.....ถูกบรรจุอยู่ในระเบียบวาระที่ ๔.๑๖ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาระที่สองและสาม ตามลำดับ และได้เชิญอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลและผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงหพันธุ์    ทองสวัสดิ์ในฐานะกรรมาธิการฯ ร่วมชี้แจงด้วย แต่ปรากฏว่าสภาผู้แทนราษฎรมิได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.....เนื่องจากมีวาระการพิจารณาเรื่องอื่นก่อน เป็นการด่วน จึงทำให้ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.....ไม่สามารถพิจารณาได้ในสมัยประชุมนี้